Google, Fitbit ข้อพิจารณาทางกฎหมายในการเข้าซื้อกิจการ

ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปดูเสมือนจะขยับไปในทิศทางเดียวกันที่ต่างเรียกร้องให้มีการควบคุมและกำกับดูแลบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มงวดขึ้น


Cap & Corp Forum

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 Google ประกาศซื้อกิจการของ Fitbit ผู้ผลิตสมาร์ตวอตช์และอุปกรณ์ติดตามตัวอัจฉริยะ ซึ่งมียอดจำหน่ายเป็นอันดับสามของโลกรองมาจาก Xiaomi และ Apple ด้วยมูลค่า 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา การซื้อกิจการของ Fitbit ดังกล่าวจะทำให้ Google สามารถพัฒนา Wear OS by Google (Android Wear) ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการของ Google บนสมาร์ตวอตช์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และในขณะเดียวกันจะทำให้ Google มีผลิตภัณฑ์สมาร์ตวอตช์ของตนเองที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นได้โดยตรงโดยเฉพาะกับ Apple Watch

หากติดตามข่าวเกี่ยวกับการซื้อกิจการในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นจากบล็อกหรือเพจข่าวประชาสัมพันธ์ของ Google หรือ Fitbit  หรือจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศ ประเด็นสำคัญที่ทุกสื่อให้ความสำคัญและกล่าวถึงมากที่สุดคือ “การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” (Data privacy) โดยนายริค ออสเตอร์โลห์ รองประธานอาวุโสฝ่ายอุปกรณ์และบริการได้ระบุในบล็อกของ Google ในวันที่เปิดเผยการซื้อกิจการโดยสรุปว่า “ข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของบริษัท และ Google สัญญาว่าจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใสเกี่ยวกับข้อมูลที่รวบรวมและเหตุผลของการรวบรวม และบริษัทจะไม่ขายข้อมูลส่วนบุคคลให้บุคคลอื่น และยังกล่าวด้วยว่า Google จะไม่ใช้ข้อมูลด้านสุขภาพจาก Fitbit สำหรับโฆษณาของตนเอง และจะให้ทางเลือกแก่ผู้ใช้ Fitbit ในการตรวจสอบ ย้าย หรือลบข้อมูลของพวกเขาได้” ในขณะที่ Fitbit ซึ่งมีผู้ใช้งานมากกว่า 27 ล้านคนได้สะท้อนข้อความนั้นในทำนองเดียวกันในเอกสารการแถลงข่าวว่า “ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยที่แข็งแกร่งเป็นส่วนหนึ่งของ DNA ของ Fitbit ตั้งแต่วันแรกและสิ่งนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง”

ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยของข้อมูลดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญของการซื้อกิจการครั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนี้

1) แพลตฟอร์มการทำธุรกิจของ Google มีการเก็บ รวบรวมและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการจำนวนมาก เพื่อใช้ประโยชน์ในการคาดเดาพฤติการณ์และความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการใช้เพื่อการโฆษณาแบบเฉพาะเจาะจงด้วย (Targeted ads) การเข้าซื้อกิจการของ Fitbit จะทำให้ Google เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการและอุปกรณ์ของ Fitbit ที่มีกว่า 27 ล้านคน

ประกอบกับตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา Google ได้เข้าซื้อกิจการต่าง ๆ กว่า 200 กิจการ อาทิ YouTube, Waze และ Nest Labs ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Google Nest เพื่อใช้ในการทำการตลาดผลิตภัณฑ์สมาร์ตภายในบ้าน เช่น  smart speakers, smart displays, smart doorbells และ smart locks เป็นต้น เมื่อรวมกับจำนวนผู้ใช้บริการผ่าน Google Search, Google Maps และการใช้อุปกรณ์แอนดรอยด์ต่าง ๆ ทำให้ Google มีจำนวนข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการจำนวนมหาศาลไว้ในครอบครองและสามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากข้อมูลเหล่านั้นด้วยการโฆษณาแบบเฉพาะเจาะจงได้ หรือรูปแบบอื่นใดที่อาจมีได้ในอนาคต

2) อุปกรณ์ของ Fitbit เป็นอุปกรณ์ที่สามารถระบุพิกัดของผู้ใช้บริการได้อย่างแม่นยำผ่าน Geolocation data  ซึ่ง Geolocation data  ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลประเภทหนึ่ง และในสังคมตะวันตก ความกังวลต่อการที่บุคคลอื่นจะสามารถระบุพิกัดหรือสถานที่อยู่ได้แบบ real-time นั้น นับว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวอย่างมาก

3) ข้อมูลส่วนบุคคลที่ Fitbit มีไว้ในความครอบครองเป็นข้อมูลด้านสุขภาพ (Health information) ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหว โดยในระบบกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในหลาย ๆ ประเทศถือว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับความคุ้มครองมากเป็นพิเศษกว่าข้อมูลทั่ว ๆ ไป อาทิ

  • HIPAA Privacy Rule และ HIPAA Security Rule ของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตาม Health Insurance Portability and Accountability Act 1996 (“HIPAA”) กำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ต่อข้อมูลด้านสุขภาพมากกว่าข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปรวมถึงมาตรการด้านความปลอดภัยของข้อมูลด้านสุขภาพนั้นด้วย (แม้ว่าในทางปฏิบัติกฎหมายนี้จะยังมีช่องว่างในการบังคับใช้ก็ตาม)
  • Google และ Fitbit อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของมลรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งหลายฉบับมีความเข้มงวดกับการประมวลผลและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพมากกว่า HIPAA อาทิ California Consumer Privacy Act 2018 เป็นต้น
  • GDPR ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปกำหนดให้ข้อมูลด้านสุขภาพเป็นข้อมูลกลุ่มพิเศษที่การเก็บ รวบรวมและใช้มีเงื่อนไขเฉพาะที่เข้มงวดขึ้น Google และ Fitbit ซึ่งแม้ว่าจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของสหภาพยุโรปด้วย เนื่องจากมีการประกอบธุรกิจในสหภาพยุโรป

นอกจากปัญหาเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลแล้ว การซื้อกิจการของ Google ในครั้งนี้ก็ใช่ว่าจะสะดวกหรือได้ไฟเขียวจากหน่วยงานกำกับดูแลเสียทีเดียว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแข่งขันทางการค้าหรือต่อต้านการผูกขาด ซึ่งการซื้อกิจการของ Google ครั้งนี้อาจจะถูกสอบสวนหรือระงับโดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาก็ได้ รวมถึงการถูกยับยั้งหรือสอบสวนจากสหภาพยุโรป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าการซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการได้รับความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่น้อยลง และทำให้บางตลาดมีการกระจุกตัวสูงขึ้นและอาจมีการลดหรือจำกัดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งในปัจจุบันทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปดูเสมือนจะขยับไปในทิศทางเดียวกันที่ต่างเรียกร้องให้มีการควบคุมและกำกับดูแลบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มงวดขึ้น โดยนาง Margrethe Vestager กรรมาธิการยุโรปผู้รับผิดชอบด้านการแข่งขันและต่อต้านการผูกขาดของสหภาพยุโรปเพิ่งเรียกร้องในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาให้สหภาพยุโรปตรากฎระเบียบเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคล โดยเธอเปรียบยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ว่าเป็น “เครื่องดูดฝุ่นหุ่นยนต์ที่ดูดข้อมูลที่มีค่าในลักษณะที่อาจบ่อนทำลายการแข่งขัน”

การซื้อกิจการของ Google ครั้งนี้จึงอาจจะไม่ง่ายและราบเรียบอย่างที่คิดก็ได้ครับ

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship

American University Washington College of Law

Back to top button