เอื้อเงินไหลออก..บาทอ่อนจริงหรือ.?

จากปรากฏการณ์ “ค่าเงินบาทแข็งรอบกว่า 6 ปี” ทำให้เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจ ปรับเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงทันที ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 30.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 30.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง(แทน)

จากปรากฏการณ์ “ค่าเงินบาทแข็งรอบกว่า 6 ปี” ทำให้เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจ ปรับเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงทันที ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 30.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 30.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ปัญหาอยู่ที่ว่า “มาตรการแบงก์ชาติ” ครั้งนี้ จะทำให้เงินบาทอ่อนลงมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญจะเป็นการ  “อ่อนค่า” เพียงระยะสั้น ๆ เหมือนดั่งที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้หรือไม่

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แบงก์ชาติน่าจะยังมีเครื่องมือและมาตรการที่จะเข้าไปดูแลเสถียรภาพของเงินบาทได้เพิ่มเติม หากมีความจำเป็นเมื่อประกอบกับมุมมองเชิงบวกที่เพิ่มมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เชื่อว่าเงินบาทน่าจะมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยการปรับเกณฑ์สนับสนุนให้เงินทุนไหลออกของแบงก์ชาติรอบนี้  เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่แบงก์ชาติประกาศใช้เมื่อเดือนก.ค. 62 ที่ผ่านมา

-การยกเว้นการนำรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ เป็นการอนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศ โดยไม่จำกัดระยะเวลาจากเกณฑ์เดิมผู้ส่งสินค้าออกที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่า ต้องนำรายได้กลับประเทศภายใน 360 วัน

กรณีนี้ถูกประเมินว่า อาจช่วยชะลอเงินไหลเข้าจากรายได้ของผู้ส่งออกได้บ้าง และเป็นการเอื้อต่อการบริหารรายได้และรายจ่ายในรูปเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในสกุลเงินเดียวกัน Natural Hedge)

-การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นการเปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อย สามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองวงเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเกณฑ์เดิม นักลงทุนรายย่อยต้องลงทุนผ่านตัวกลางและอนุญาตเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่มีสินทรัพย์เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมเพิ่มวงเงินรวมสำหรับลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต.เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวงเงินจัดสรรเดิม 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรณีนี้ประเมินว่า เป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดการไหลออกของเงินทุนจากนักลงทุนไทย ทั้งส่วนของรายย่อย และนักลงทุนที่ก.ล.ต.กำกับดูแล แต่ว่าผลสุทธิขึ้นอยู่กับพฤติกรรมปรับพอร์ตการลงทุนและสภาวะที่เอื้อต่อการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนโลก

-การโอนเงินออกนอกประเทศ โดยเปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศ ยกเว้นบางรายการ (Negative list) เช่น การชำระธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับเงินบาทกับสถาบันการเงินต่างประเทศ  จากเกณฑ์เดิมกำหนดเป็น Positive List) พร้อมโอนเงินให้ตนเองหรือญาติที่ย้ายถิ่นฐานในต่างประเทศได้เสรีและสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศในชื่อของบุคคลในครอบครัวสามารถโอนได้ไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อธุรกรรม ไม่ต้องยื่นเอกสาร จากเดิมกำหนดไว้ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อธุรกรรมเท่านั้น

กรณีนี้ประเมินว่า เป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดการไหลออกของเงินทุน และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม

-การซื้อขายทองคำด้วยสกุลเงินต่างประเทศ โดยอนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่ลงทุนซื้อขายทองคำ กับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจากธปท.ชำระราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ผ่านบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD)  ได้และเตรียมอนุญาตซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไป จากเกณฑ์เดิม การซื้อขายทองคำ ต้องอยู่ในรูปเงินบาทเท่านั้น

กรณีนี้ประเมินว่า  เป็นการลดความผันผวนของเงินบาทที่เกิดจากธุรกรรมซื้อขายทองคำ และอาจช่วยชะลอแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐ ช่วงที่ไทยมีการเกินดุลจากการส่งออกทองคำมาก เมื่อราคาทองคำตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

นี่อาจเป็นหนึ่งในมาตรการแก้เงินบาทแข็ง แต่โจทย์ใหญ่ที่  “ค่าเงินบาท” อาจต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อยู่ที่อิทธิพลจากความชัดเจนเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อยุติปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แม้ตอบรับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดไปบ้างแล้วก็ตาม..!!

Back to top button