บอร์ด กทพ. เคาะแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วน “BEM” นัดเจรจาต้นม.ค.นี้!

บอร์ด กทพ. เคาะแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วน “BEM” นัดเจรจาต้น ม.ค.นี้ ก่อนเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา พร้อมระบุเงื่อนไขยกเว้นเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์


นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ ( บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดวานนี้ (26 ธ.ค.62) ที่ประชุมรับทราบกรอบแนวทางเจรจาการยุติข้อพิพาทกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM โดยจะนัดเจรจากับ BEM ในต้นเดือนม.ค.63

ทั้งนี้ กรอบการเจรจาจะเป็นไปตามที่คณะทำงานแก้ไขข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ BEM  ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานสรุปและได้รับความเห็นชอบจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว คือ ตกลงขยายสัญญาสัมปทานโครงการทางด่วน เป็นระยะเวลา 15 ปี  8 เดือน โดยไม่มีการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นที่  2 (Double Deck) และการก่อสร้างใดๆ ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายมอบหมายให้ กทพ. พิจารณาเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อพิพาทที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท รวมถึงเงื่อนไขในการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม เช่น ยกเว้นการเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะสรุปและเสนอเข้าสู่คณะกรรมการกำกับฯ ตามมาตรา 43 ตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 และส่งร่างสัญญาที่จะแก้ไขให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา เพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

ส่วนการปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) และการก่อสร้างขยายเส้นทางเพื่อแก้ปัญหาจราจรนั้น ไม่ได้ยกเลิก กระทรวงคมนาคมให้แยกเรื่อง โดยให้ กทพ.ศึกษาเพื่อแก้ปัญหาจราจรทั้งระบบ  และนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน กทพ. มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยการลดค่าผ่านทางด่วนบัตร Easy Pass ในอัตรา 5% ทุกด่าน เป็นเวลา 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.63 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้บัตร Easy Pass มากขึ้น เพราะนอกจากจะลดค่าใช้จ่าย โดยทุก 1,000 บาท จะได้ส่วนลด 50 บาทแล้ว การใช้ Easy Pass สามารถลดเวลารอคิวจ่ายเงิน ในเวลา 3 วินาที/คัน ขณะที่เงินสดใช้เวลา 10 วินาที หรือเร็วกว่าถึง 3 เท่า ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดภาระของพนักงานเก็บเงิน รวมถึงช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 อีกด้วย

นอกจากนี้ บอร์ด กทพ.ยังได้อนุมัติโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอก กทม.ด้านตะวันออก วงเงิน 15,200 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือ TFF โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 63  ทั้งนี้  กทพ.จะดำเนินการทางด่วน N2 ไปพร้อมกับการก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ด้วย

Back to top button