BEM รับข้อเสนอ “กทพ.” จบข้อพิพาท 17 คดี แลกขยายสัญญาทางด่วน 15 ปี 8 เดือน

BEM รับข้อเสนอ “กทพ.” จบข้อพิพาท 17 คดี แลกขยายสัญญาทางด่วน 15 ปี 8 เดือน


นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ดกทพ.) เปิดเผยภายหลังประชุมบอร์ด กทพ. วานนี้ (6 ม.ค. ) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติแนวทางในการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อยุติข้อพิพาทคดีทางด่วน ที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท

โดยมีเงื่อนไขหลัก คือ ไม่มีการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นที่  2  (Double Deck ) และยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีต่อกัน 17 คดี โดยจะมีการต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วน เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน และได้มีการเจรจากับ BEM อย่างเป็นทางการ ซึ่งบริษัทฯได้ตกลงตามเงื่อนไขที่ คณะทำงานแก้ไขข้อพิพาทฯ ที่มี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้พิจารณาไว้

ทั้งนี้ ในส่วนเงื่อนไขอื่นๆ เช่น การ ปรับค่าผ่านทางชัดเจน โดยปรับทุก 10 ปี ( ครั้งละ 10 บาท) ,  ยกเว้นค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศ ,การแบ่งรายได้ กทพ.-BEM ที่ 60-40 และทางด่วน ส่วน C บวก BEM ได้ 100%  นั้น ยังคงตามที่ได้คณะทำงานแก้ไขข้อพิพาทได้มีการเจรจาไว้ โดย BEM ให้ความร่วมมือทุกประเด็น

ดังนั้น ในครั้งนี้ถือว่าการเจรจาระหว่างกทพ.และ BEM จึงได้ข้อยุติข้อพิพาทร่วมกันและหลังจากนี้กทพ.จะสรุปรายละเอียดทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการกำกับฯ ตามมาตรา 43  ที่มี นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและและแผนการขนส่งและจราจร  (สนข.) เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งตามกระบวนการแก้ไขสัญญาตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และเพื่อไปยังกระทรวงคมนาคม และในขณะเดียวกัน จะส่งร่างสัญญาที่จะแก้ไข ประเด็นที่ไม่มีการปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 และยุติข้อพิพาท ส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา  และส่งต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อ จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)  พิจารณาภายในสิ้นเดือนม.ค. นี้

สำหรับ ค่าชดเชยกรณี วงเงิน 4,318 ล้านบาท ศาลปกครองมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 ให้ กทพ. จ่ายเงินชดเชยแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด กรณีมีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต เป็นทางแข่งขันนั้น จะต้องยกเลิกกันและไม่ถูกบันทึก  แต่ในกระบวนการทางบัญชี การคืนหนี้จะต้องหารือกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ว่าจะทำอย่างไร ในการบันทึกหนี้กลับ

นายสุรงค์ กล่าวอีกว่า  ในส่วนของพนักงานกทพ.ได้แสดงความเป็นห่วง ความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมขององค์กร  ซึ่งบอร์ดได้นำข้อห่วงใย มาพิจารณา และยืนยันว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ในบทบาทและหน้าที่ของกรรมการ  2 ส่วน คือต้องดำเนินการตามนโยบายที่กระทรวงคมนาคมกำหนดและดูแลผลประโยชน์ขององค์กรให้ดีที่สุด

Back to top button