CWT กล้าตอนคนอื่นกลัว

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ฉุดให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย หลายธุรกิจหยุดชะงักในแง่ของการลงทุน เพราะไม่มั่นใจว่า จะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้ได้เมื่อไหร่..?


สำนักข่าวรัชดา

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ฉุดให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย หลายธุรกิจหยุดชะงักในแง่ของการลงทุน เพราะไม่มั่นใจว่า จะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้ได้เมื่อไหร่..?

แต่…บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT ที่หลายคนรู้จักในฐานะหุ้นหนังควาย กลับคิดต่าง…มองว่านี่อาจเป็นจังหวะของการลงทุน…

จึงทุ่มเงิน 100 ล้านบาท เข้าไปลงทุนเพิ่มในบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด หรือ SKC ซึ่งประกอบธุรกิจรับออกแบบ และผลิตเรืออะลูมิเนียมและรถไมโครบัส ซึ่งเดิม CWT ถือหุ้นอยู่ 50.01% เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นเดิม

ไม่เพียงเท่านี้ CWT ยังให้บริษัทลูกอย่างบริษัท ชัยวัฒนา กรีน จำกัด หรือ CWTG เข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัท บลู โซลาร์ฟาร์ม 3 จำกัด หรือ BSF3 ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากเดิมถือหุ้นในสัดส่วน 49% เพิ่มเป็น 60% คิดเป็นเงิน 13.2 ล้านบาท

เรียกว่า เป็นความกล้าที่จะลงทุนในตอนที่คนอื่นกลัว..!!

สอดคล้องกับที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนระดับตำนานของโลก เคยกล่าวไว้ว่า “จงกล้าในตอนที่คนอื่นกลัว” ..!!

ที่จริงก็พอเข้าใจได้ถึงความจำเป็นของ CWT ที่ต้องแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

เพราะหากจะไปหวังพึ่งพาธุรกิจดั้งเดิมอย่างฟอกหนังสัตว์ ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ฟอก  ผลิตภัณฑ์ของเล่นสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์หนัง และผลิตภัณฑ์เบาะหนังและชิ้นส่วนหนังสำหรับรถยนต์ อาจโตยากขึ้น

เนื่องจากมีคู่แข่งมากขึ้น ทำให้ตัวเลขกำไรแม้ไม่แย่…แต่ก็ไม่โดดเด่น

ก่อนหน้านี้ จึงเห็นการปรับโครงสร้างธุรกิจของ CWT ไปลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น

เริ่มจากธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่เริ่มรับรู้รายได้เข้ามาต่อเนื่อง

ประกอบกับ CWT มีสัมพันธ์ที่ดีกับค่ายรถยนต์ ช่วงหลัง ๆ มา ก็เห็นไปจับมือกับบริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (HINO) เพื่อรุกสู่ธุรกิจต่อเรือ ต่อรถโดยสารขนาดเล็ก หรือรถไมโครบัส

สำหรับ HINO ได้ประโยชน์จากการขายเครื่องยนต์ ส่วน CWT ได้เปิดตลาดใหม่…โดยเฉพาะรถไมโครบัสแทนรถตู้ โดยมีนวัตกรรมตัวถังอะลูมิเนียม น้ำหนักเบาแข็งแรงทนทานเป็นจุดขาย ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการรถตู้ที่ต้องการเปลี่ยนมาเป็นไมโครบัส ตามนโยบายกรมการขนส่งทางบก

ดังนั้น การที่ CWT เดินเกมรุกเพิ่มการลงทุนในธุรกิจพลังงานและธุรกิจต่อเรือ ต่อรถโดยสารขนาดเล็ก น่าจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เอ๊ะ..! หรือนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเห็น CWT เติบโตแบบติดปีกหรือเปล่าน๊า…หลังจากปี 2562 โชว์กำไรสุทธิสูงถึง 105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 74 ล้านบาทมาแล้ว

แต่การกล้าในโอกาสที่คนอื่นกลัว คำถามคือ กล้าเกินไปมั้ย..?

“เฮียวีระพล ไชยธีรัตต์” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และเอ็มดี CWT น่าจะตอบคำถามนี้ได้ดีสุด…

…อิ อิ อิ…

Back to top button