หุ้นยานยนต์เบรกแตก!

หากยอดขายรถยนต์ในประเทศและส่งออกมีการปรับลดลงมากกว่าคาด จากผลกระทบของไวรัส COVID-19 มีความรุนแรงกินระยะเวลานาน ก็ยิ่งทำให้ยอดขายลดลงและกระทบต่อกำไร


เส้นทางนักลงทุน

อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเข้าสู่การชะลอตัวอย่างรุนแรง จากสถานการณ์พิษของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกนับตั้งแต่ต้นปี 2563 กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งได้…ซึ่งผลดังกล่าวส่งผลกระทบทางด้านการซื้อรถยนต์ใหม่ภายในประเทศและการส่งออก

ข้อมูลล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศประจำเดือน ก.พ. โดยยอดผลิตรถยนต์รวมของประเทศอยู่ที่ 150,604 คัน (ลดลง 17.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) เป็นยอดผลิตประจำเดือน ก.พ. ที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

มีปัจจัยลบกดดันยอดผลิต ดังนี้

  1. ยอดขายในประเทศลดลง -17.1% อยู่ที่ 68,271 คัน ลดลงจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ และผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้กำลังซื้อรถยนต์ใหม่หายไปอย่างชัดเจน
  2. การส่งออกลดลง -5.3% เป็น 95,191 คัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยกเว้นตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป

นอกจากนี้ เชื่อว่าผลกระทบของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้รัฐบาลไทยออกมาตรการลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดด้วยการปิดพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ เป็นระยะเวลาราว 20 วัน จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนเป็นวงกว้าง เงินหมุนเวียนในระบบหยุดชะงัก แรงงานขาดรายได้

ผลลัพธ์ คาดว่าอาจกระทบยอดขายรถยนต์ใหม่ในเดือน มี.ค.-พ.ค. อย่างต่อเนื่อง (เป็นอย่างน้อย) จะลดลงแรงที่ระดับ 25-30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ในขณะที่ประเทศคู่ค้ารถยนต์ของไทยก็ได้รับผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเริ่มมีมาตรการสกัดกั้นไวรัส COVID-19 ที่เริ่มเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน อย่างประเทศออสเตรเลีย (ประเทศส่งออกรถยนต์อันดับ 1 ของไทย) ที่เริ่มมีการปิดประเทศเป็นต้น กอปรกับราคาน้ำมันที่ลดลงรุนแรงกว่า 60% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ภายในระยะเวลา 2 เดือน ทำให้มองว่าทวีปตะวันออกกลาง ทวีปที่ไทยส่งออกรถยนต์สูงเป็นอันดับที่ 3 อาจมีการชะลอซื้อรถยนต์ใหม่ เหมือนกับสมัยปี 2558-2559 ที่จำนวนรถยนต์ส่งออกลดลงระดับ 20-30%  จากงวดเดียวกันของปีก่อน สองปีติดต่อกัน ทำให้เชื่อว่าด้านการส่งออกรถยนต์ของไทยจะลดลงราว 20-25% จากงวดเดียวกันของปีก่อนของช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. เป็นอย่างน้อย

ด้วยปัจจัยลบที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้บล.ทรีนีตี้ ปรับประมาณการยอดขายรถยนต์ใหม่อีกครั้งเป็น 1.75 ล้านคัน (ลดลง 15.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี โดยปรับยอดขายในประเทศลงเหลือ 8.3 แสนคัน (ลดลง 17.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) และส่งออกเหลือ 9.2 แสนคัน (ลดลง 12.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน)

ทั้งนี้ประมาณการนั้นต่ำกว่าที่สภาอุตสาหกรรมคาดไว้ที่ 1.9 ล้านคันค่อนข้างมาก เพราะคาดว่าผลกระทบจาก COVID-19 น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในช่วง มี.ค.-เม.ย. ได้รุนแรงมากที่สุด พร้อมกับแนะนำให้ติดตามยอดผลิตรถยนต์ในเดือน มี.ค. ก่อนการลงทุนอีกครั้ง

ดังนั้นในภาวะวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดมีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจจะชะลอตัวแรงในช่วงระยะสั้นนี้ ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบยังบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH เนื่องจากธุรกิจหลักประกอบด้วย ธุรกิจผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ ออกแบบผลิตและติดตั้งอุปกรณ์จับยึดเพื่อประกอบรถยนต์ ออกแบบและผลิตอุปกรณ์แม่พิมพ์ปั๊มโลหะ และมีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการรถยนต์ และให้บริการด้านเทคโนโลยี

บริษัท อิงเกรส อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ INGRS เป็นผู้ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัท ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ ในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยมีบริษัท อิงเกรส ออโตเวนเจอร์ จำกัด เป็นบริษัทแกนที่ประกอบธุรกิจดังกล่าวในประเทศไทย

บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PCSGH เป็นผู้ประกอบธุรกิจการลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ มีบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 จำนวน 3 บริษัท ในประเทศไทย และ 6 บริษัทในประเทศเยอรมนีและฮังการี

บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ส่องสว่างยานยนต์ ได้แก่ หลอดไฟ ชุดโคมไฟ และแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

บริษัท ฮิตาชิ เคมิคอล สโตเรจ แบตเตอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ BAT-3K เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด (Lead Acid Battery) สำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถโฟล์คลิฟต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า เป็นต้น ภายใต้แบรนด์ 3K เป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของไทย มีสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศ 50% และต่างประเทศ 50%

บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ เพลาข้าง (Axle Shaft) ให้แก่ผู้ประกอบยานยนต์ (Original Equipment Manufacturer : OEM) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทมีความหลากหลายด้านยานยนต์

ด้วยหลักทรัพย์ข้างต้นที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวข้องกับยานยนต์ ซึ่งหากยอดขายรถยนต์ในประเทศและส่งออกมีการปรับลดลงมากกว่าคาด จากผลกระทบของไวรัส COVID-19 มีความรุนแรงกินระยะเวลานาน ก็ยิ่งทำให้ยอดขายลดลงและกระทบต่อกำไรในระยะสั้น

Back to top button