“ตู่” คอนเฟิร์ม! รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บ. ครบ 3 เดือน ขอโทษปชช. สื่อสารทำสับสน

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี คอนเฟิร์ม! รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บ. ครบ 3 เดือนแน่นอน ขอโทษปชช. สื่อสารทำสับสน


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 1/2563 ในวันนี้ (16 เม.ย.63)​

โดยยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมจ่ายเยียวยาครบ 3 เดือนอย่างแน่นอน พร้อมกับกล่าวขอโทษ จากกรณีเมื่อวานนี้ที่แถลงข่าว จนเกิดความไม่สบายใจ นำไปสู่การเคลื่อนไหวอีกมากมาย

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุต่อว่า สำหรับในการประชุมวันนี้ จำเป็นต้องมีการปรับวงเงินในการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งรายละเอียดทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฏหมายทั้งหมด

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็วสามารถที่จะแก้ปัญหาได้ภายหลัง 3 เดือนไปแล้ว ก็เชื่อว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในจำนวนนี้ เพราะประชาชนสามารถที่จะประกอบอาชีพได้แล้ว ซึ่งรัฐบาลต้องมีความระมัดระวังในการกู้เงินให้เป็นไปตามกฏหมาย เพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะดูแลประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบรวมถึงเกษตรกร ซึ่งในส่วนของกลุ่มเกษตรกรจะต้องพิจารณาอีกว่ามีหลากหลายกลุ่ม บางกลุ่มมีผลกระทบมากและผลกระทบน้อย ซึ่งรัฐบาลก็มีมาตรการในการคัดกรอง

ดังนั้น จึงอยากขอความร่วมมือทุกคนช่วยรัฐบาลในการลดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า หาก 14 วันจำนวนลดลงนั้นหมายถึงการควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว หลังจากนั้นก็จะมีการปลดล็อกในบางมาตรการ แต่ขออย่าเรียกร้องให้มีการเปิดกิจการทั้งหมด เพราะจำเป็นที่จะต้องควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกคนจะต้องมาร่วมมือกันรับผิดชอบด้วย เพราะถือเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ

“ขอบคุณ ขอโทษที่ทำให้ทุกคนไม่มั่นใจ ขอให้มั่นใจในตัวผม มั่นใจกระทรวงคลัง ทุกคนทำอย่างเต็มที่ บางครั้งยากบ้าง ง่ายบ้าง ทันใจบ้าง ไม่ทันใจบ้าง ก็ขอโทษด้วยแล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ไม่ได้มีการหารือเรื่องการปรับเพดานหนี้สาธารณะ ที่ขณะนี้ยังคงไว้ที่ 60 % เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินการกู้เงิน แต่จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งกลไกต่างๆจะต้องสอดรับการภาวะวิกฤติ

Back to top button