ปล้นกลางแดด อุ้มเจ้าสัว

พอเขียนถึง กรณี ออก พ.ร.ก.ให้ ธปท. (ที่ยามนี้กลายเป็นพินอคคิโอไปแล้ว) ตั้งกองทุน BSF อุ้มตราสารหนี้ด้วยวงเงิน 4 แสนล้านบาทด้วยวิธีการดิบเถื่อน-นอกตำรา เสียงโทรศัพท์ก่นด่าว่าเชียร์คนผิด จากบรรดา “ผู้พิทักษ์ธปท.สุดจิตสุดใจ” มาเป็นโขยง ตามมาด้วยพรายกระซิบเรื่องจริงปนเท็จว่า เจ้าสัวคนนั้นคนนี้อยู่เบื้องหลังมาตรการพิลึกกึกกือนี้


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

พอเขียนถึง กรณี ออก พ.ร.ก.ให้ ธปท. (ที่ยามนี้กลายเป็นพินอคคิโอไปแล้ว) ตั้งกองทุน BSF อุ้มตราสารหนี้ด้วยวงเงิน 4 แสนล้านบาทด้วยวิธีการดิบเถื่อน-นอกตำรา เสียงโทรศัพท์ก่นด่าว่าเชียร์คนผิด จากบรรดา ผู้พิทักษ์ธปท.สุดจิตสุดใจ” มาเป็นโขยง ตามมาด้วยพรายกระซิบเรื่องจริงปนเท็จว่า เจ้าสัวคนนั้นคนนี้อยู่เบื้องหลังมาตรการพิลึกกึกกือนี้

บางครั้งก็เล่นเอาเขว และเป๋ไปเหมือนกัน…ถามตัวเองว่า ทำอะไรอยู่ หมูเขาจะหาม ดันทะลึ่งเอาไม้คานเข้าสอด

ได้แต่บอกตัวเองว่าต้องเดินหน้าอย่างเดียว

ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณความโปร่งใสของ ก.ล.ต. ที่เก็บข้อมูลตราสารหนี้รับอนุญาตของประเทศนี้เอาไว้  โดยเฉพาะตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เอกชนที่คงค้างไว้ ทำให้งานสืบค้นง่ายขึ้น

แม้ว่าการสืบค้นจะไม่ง่ายนัก ต้องการความชำนาญอยู่ไม่น้อย แต่หลังจากคนป่วยและแก่ ได้ใช้เวลา 2 วันเศษ ๆ ก็สามารถ แงะ” เอาข้อมูลที่บรรดาพรายกระซิบทั้งหลายเกริ่นเอาไว้ (ประเภท เขาว่า……”แต่ไม่ยืนยันความแม่นยำ) ออกมาได้พอสมควร

แค่พอหยาบ ๆ ก็พอมองเห็นการร่วมปล้นกลางแดดของผู้บริหาร ธปท. ในการอุ้มตราสารหนี้เอกชนทางตรงว่า เป็นมากกว่าการอุ้มเจ้าสัวธรรมดา

ลองดูข้อมูลต่อไปนี้ดูนะครับ (ถ้าไม่สะใจเข้าค้นต่อเพิ่มเติมได้ที่เว็บ ก.ล.ต.) ……แล้วจะตาสว่างขึ้น

ข้อมูลตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนที่คงค้างทั้งหมดสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มียอดปรากฏในสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รวม 3.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตราสารหนี้ (หุ้นกู้ระยะยาว) และตราสารหนี้ระยะสั้น (ตั๋ว B/E และnon-rating bonds) พบว่าตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในสิ้นปี 2563 นี้ ที่เข้าข่ายได้รับการโอบอุ้มจากธปท. ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.ดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีระยะสั้น แต่มีระยะยาว ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง A+ จำนวน 2 รายการ วงเงิน 2,750 ล้านบาท ส่วนที่มีเรตติ้ง A มี 5 รายการ วงเงิน 6,375 ล้านบาท

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีระยะสั้น แต่มีระยะยาว 2 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง A วงเงิน 50,000 ล้านบาท

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ไม่มีตราสารระยะสั้น แต่มีระยะยาว 3 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง A+ วงเงิน 3,400 ล้านบาท

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีตั๋วเงินB/Eระยะสั้น 2รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง Aวงเงิน 850 ล้านบาท ระยะยาว 3 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง BBB+ วงเงิน 5,100 ล้านบาท

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) โรงแรมเซนทารา ไม่มีระยะสั้น แต่มีระยะยาว 1 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง A วงเงิน 800 ล้านบาท

บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ไม่มีระยะสั้น แต่มีระยะยาว 4 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง A+ วงเงิน 14,000 ล้านบาท

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มีระยะสั้นเป็นตั๋วเงิน B/E จำนวน 3 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง AA วงเงิน 3,052 ล้านบาท มีระยะยาว 1 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง A- วงเงิน 800 ล้านบาท

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ไม่มีระยะสั้น แต่มีระยะยาว 4 รายการ แบ่งเป็นมีหลักประกัน 2 รายการ เรตติ้ง AA วงเงิน 5,000 ล้านบาท ไม่มีหลักประกัน 2 รายการ เรตติ้ง A- วงเงิน 1,500 ล้านบาท

บริษัท กันกุลเอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) มีตั๋วเงิน B/E รวม 6 รายการ ไม่มีหลักประกัน มีเรตติ้ง BBB วงเงิน 450 ล้านบาท มีระยะยาว 1 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง BBB วงเงิน 1,000 ล้านบาท

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีระยะสั้นเป็นตั๋วเงิน B/E ไม่มีหลักประกัน 19 รายการ เรตติ้ง A วงเงิน 13,980 ล้านบาท ระยะยาว 2 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง A วงเงิน 5,000 ล้านบาท

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มีระยะสั้น เป็นตั๋วเงิน B/E 7 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง A+ วงเงิน 3,500 ล้านบาท ระยะยาว 1 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง A+ วงเงิน 5,000 ล้านบาท

บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  มีทั้งระยะสั้น 7 รายการไม่มีประกัน เรตติ้ง A+วงเงิน 5,500 ล้านบาท และ ระยะยาวอีก 1 รายการ ไม่มีประกัน เรตติ้ง A+ วงเงิน 5,000 ล้านบาท

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่มีระยะสั้น แต่มีระยะยาว  4 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง BBB+ วงเงินรวม 12,026.3 ล้านบาท

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ไม่มีตราสารหนี้ระยะสั้น แต่มีระยะยาว 3 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง BBB วงเงิน 6,000 ล้านบาท

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีตั๋วเงิน B/E ระยะสั้น 1 รายการ ไม่มีหลักประกัน ไม่มีเรตติ้ง วงเงิน 4,118 ล้านบาท มีระยะยาว 1 รายการ ไม่มีหลักประกัน และใช้ตราสารหนี้บริษัทอื่นค้ำประกันแทน เรตติ้ง AAA วงเงิน 20,000 ล้านบาท

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีตั๋วเงิน B/E ระยะสั้น ไม่มีประกัน เรตติ้ง AA วงเงิน 2,000 ล้านบาท มีระยะยาว 2 รายการ ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง AA วงเงินรวม 9,192 ล้านบาท

สุดท้าย บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ ที่มีคนกล่าวหาว่าไม่ได้รับการโอบอุ้มจากมาตรการ ทำให้ “อาจารย์โกร่ง”ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในฐานประธานกรรมการบริษัทต้องออกมาโวย (ลืมไปว่า ผู้เฒ่าท่านนี้เป็นประธานหลายบริษัทรวมทั้ง BEM ที่สุดแกร่ง) ก็อยู่ในข่ายได้รับอานิสงส์ด้วย เพราะมีระยะยาวด้วย ไม่มีหลักประกัน เรตติ้ง BBB-วงเงินแค่ 745.80 ล้านบาท

มากันพรึบพร้อมหน้าเลย ไม่มีขาด ทั้ง……เจ้าสัวธนินท์ เจ้าสัวเจริญ เจ้าสัวจิราธิวัฒน์ เจ้าสัวอนันต์ เจ้าสัวคีรี เสี่ยโก้ (ขาดเจ้าสัวปลิว ตรีวิศวเวทย์ และทายาทเจ้าสัววิชัย แห่งคิง เพาเวอร์) แถมยังพ่วงยักษ์ใหญ่อย่าง การบินไทย ปตท. และ ปูนซิเมนต์ไทย เข้าไปด้วย

เห็นชื่อผู้ออกตราสารหนี้และเรตติ้งที่ได้รับแล้ว นอกจากน่าทึ่งว่า ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรแล้ว ถ้าหากเจ้าสัวและยักษ์ใหญ่ธุรกิจเหล่านี้กลายสภาพเป็นเทวดาตกสวรรค์ขึ้นมาจริง ๆ ทำไมต้องเข้าไปเสี่ยงอุ้ม (เว้นแต่จะให้เข้าใจว่า ประเทศนี้กำลังปกครองด้วยระบอบ corporatism เรียบร้อยไปแล้ว)

แล้วตามมาด้วยบางคำถามที่ตอบยากว่า หากตราสารหนี้ในข่ายเหล่านี้ มีอันต้องขอรับความช่วยเหลือจากธปท.แล้ว คณะทำงานที่ทำการวินิจฉัยว่าจะซื้อ หรือ อุ้มตราสารหนี้ของธปท. จะซื้อหนี้เหล่านี้มาในราคาเท่าไร

หากซื้อราคาเต็มตามเรตติ้งที่ได้รับ ก็เท่ากับแปลงสภาพ “จั๊งค์บอนด์” (หรือบอนด์ขยะที่ไร้ค่าเพราะจะเบี้ยวชำระหนี้ตอนไถ่ถอน) ให้สูงค่าเกินจริง ซึ่งจะมีคำถามทางสังคมตามมาว่า เล่นพวกกันหน้าด้าน ๆ เลยหรือ

ครั้นจะซื้อด้วยราคาดิสเคาท์ เพราะถือเป็นจั๊งค์บอนด์ ก็จะส่งผลพวงตามมาเป็นลูกโซ่เพราะตราสารหนี้ที่ยังไม่ครบกำหนดที่เหลือคงค้างของบริษัทที่ธปท. เข้าไปโอบอุ้ม ย่อมกลายสภาพเป็นจั๊งค์บอนด์โดยปริยาย

ลองจินตนาการเอาง่าย ๆ ว่า หากหุ้นกู้ของปตท. และปูนซิเมนต์ไทย ที่เคยมีเรตติ้งสวย ๆ กลายเป็นจั๊งค์บอนด์ ตลาดตราสารหนี้จะอลหม่านแค่ไหน

คงดูไม่จืดแน่ ๆ งานนี้

งานนี้ ผู้บริหารบริษัทต้องถึงเวลาเลือกว่าบนทางสามแพร่งท่ามกลางสภาพคล่องที่หดหาย จะเลือก กลืนเลือด” (ก้มหน้ากัดฟันชำระหนี้) หรือ กินอุจจาระ” (สยบอ้อมกอดของ ธปท.) หรือจะยอมเบี้ยวหนี้ดื้อ ๆ ทำนอง ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย”

ปฏิบัติการปล้นกลางแดดที่ออกแบบโดยผู้บริหารธปท. กำลังถักทอแหแห่งวิกฤตให้ลิงแก้อย่างขะมักเขม้น ใครยอมนิ่งดูดาย วันหน้าพอเขาอ้างว่า อีตอนทับ ไม่ร้อง…พอท้องจะให้รับได้ไง?” ก็อย่าบ่นละกัน

เพราะที่นี่……ประเทศกูมี!!

Back to top button