วันวานทีพีไอ วันนี้บินไทย

คนไทยเราส่วนใหญ่ พอระแคะระคายถึงฐานะทางการเงินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะสายการบินแห่งชาติ และรัฐวิสาหกิจของชาติมาบ้าง แต่ก็ยังนึกไม่ถึงว่า ความเสื่อมสลายจะมาเยือนอย่างรวดเร็วเพียงนี้


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

คนไทยเราส่วนใหญ่ พอระแคะระคายถึงฐานะทางการเงินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะสายการบินแห่งชาติ และรัฐวิสาหกิจของชาติมาบ้าง แต่ก็ยังนึกไม่ถึงว่า ความเสื่อมสลายจะมาเยือนอย่างรวดเร็วเพียงนี้

พอนึกได้ถึงหายนะ น้ำก็ท่วมพ้นคอมาแล้ว รอวันจมหายไปในสายน้ำนั่นแหละ

ครับ วันนี้การบินไทย เลี่ยงไม่ได้จะต้องพึ่งพาศาลล้มละลาย เพื่อขอความคุ้มครองให้มีการฟื้นฟูกิจการ และกลับมาทำธุรกิจปกติได้ในวันข้างหน้า

ความสำเร็จจะใช้เวลาเนิ่นนานเป็น 5 ปี-10 ปี หรืออาจมากกว่านั้นเท่าไหร่ก็ไม่รู้ล่ะ

แต่เท่าที่ผมนึกได้ถึงการฟื้นฟูกิจการขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีกรณีใดเกินหน้าการฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ

ถือเป็นกรณีศึกษาสุดคลาสสิก โคตรโหด และสลับซับซ้อน แต่ก็ประสบผลสำเร็จอย่างใสละอาดในบั้นปลาย และก็ใช้เวลาอันไม่นานนัก

ระยะแรก เป็นระยะจลาจลวุ่นวายช่วง 2540-2546 เริ่มตั้งแต่ทีพีไอ ประกาศหยุดพักชำระหนี้จำนวนประมาณ 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยขณะนั้น 1.12 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเจ้าหนี้ไทยร้อยละ 44 และเจ้าหนี้ต่างประเทศร้อยละ 56

ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ทะเลาะกันอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารแผนมากถึง 3 ชุด โดยเฉพาะชุดบริหารแผนฯ อันอื้อฉาว เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส ที่เจ้าหนี้เลือกมา

แต่ก็มองไม่เห็นอนาคตว่าการฟื้นฟูกิจการที่เจ้าหนี้จะต้องได้รับการชดใช้หนี้ ลูกหนี้ต้องได้รับความยุติธรรม และพนักงานทีพีไอ 8,000 คนต้องมีงานทำต่อไปแต่อย่างใด

ในที่สุด ก้าวเข้าสู่ยุคที่ 2 (ก.ค. 46-เม.ย. 49) ตัวแทนกระทรวงการคลัง 5 คน เข้าเป็นผู้บริหารแผนฯ และประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม จากการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

ตัวแทนกระทรวงการคลัง 5 คน ได้แก่ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานกรรมการ และกรรมการประกอบด้วย นายทนง พิทยะ, นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา, นายพละ สุขเวช และนายอารีย์ วงศ์อารยะ ต่อมาดร.วีรพงษ์ รามางกูร เข้ามาเป็นผู้บริหารงานแทนดร.ทนงที่ลาออก

สูตรของการฟื้นฟูกิจการโดยทั่วไป ก็คงหนีไม่พ้นกระบวนการลดทุน-เพิ่มทุน การเจรจาเจ้าหนี้ การหา “มืออาชีพ” เข้ามาบริหารงานขณะกิจการยังดำเนินต่อ การสร้างความโปร่งใสทุกขั้นตอน และการมีผู้บริหารแผนที่สุจริต ยุติธรรม และมีความเป็นมืออาชีพ

แต่ความเป็นจริง บนเส้นทางฟื้นฟูกิจการ มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลย แต่เต็มไปด้วยการขัดขวางต่อต้านตลอดเส้นทาง จากผู้เกี่ยวข้องที่สูญเสียผลประโยชน์ ซึ่งรากเหง้าปัญหาใหญ่ก็คือ การทุจริตที่ซุกซ่อนถึงขนาดไซฟ่อนเงินเป็น 5-6 พันล้านบาท และเอาเงินบริษัทพันล้านไปสร้างตึกเป็นสมบัติส่วนตัว ก็ยังทำกันเลย

ในที่สุด แผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ โดยผู้บริหารแผนกระทรวงการคลัง ก็จบลงได้อย่างยิ่งใหญ่และใสสะอาด โดยนับตั้งแต่คำสั่งศาลล้มละลายกลางแต่งตั้งให้เริ่มปฏิบัติงานจนมีคำสั่งให้ออกจากแผนฟื้นฟูฯ ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี 10 เดือน ไม่ถึง 3 ปีดีด้วยซ้ำ

ณ สิ้นปี 2548 (หลังผู้บริหารแผนฯ เข้าปฏิบัติหน้าที่ 2 ปีครึ่งมูลค่าทรัพย์สินรวม เพิ่มขึ้นจาก 130,825 ล้านบาทเป็น 152,676 ล้านบาท หนี้สินรวมลดลงจาก 128,787 ล้านบาท เหลือเพียง 51,966 ล้านบาท

ส่วนของผู้ถือหุ้น เพิ่มขึ้นจาก 2,038 ล้านบาทเป็น 100,710 ล้านบาท มูลค่าหุ้นทางบัญชี หรือ “บุ๊กแวลู” เพิ่มขึ้นจาก 0.26 บาท/หุ้น (พาร์ 10 บาท) เป็น 5.16 บาท/หุ้น (พาร์ 1 บาท) ส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจาก (-32,049 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเป็น 26,798 ล้านบาท

และขาดทุนสะสม จาก 89,347 ล้านบาท กลายเป็นกำไรสะสม 29,538 ล้านบาท ช่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก!

ราคาหุ้นสำหรับบริษัทที่ไร้อนาคต ก็ขึ้นไปอย่างถล่มทลาย ผู้ถือหุ้นใหม่ทางยุทธศาสตร์ที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน 3.30 บาทก็แฮปปี้ไปตาม ๆ กัน อันได้แก่ ปตท. ธนาคารออมสิน กบข. กองทุนรวมวายุภักษ์ ผู้ถือหุ้นเดิม (ยกเว้นที่เป็นส่วนทุนเดิม) และเจ้าหนี้ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ทางการเงิน มากน้อยตามลำดับ

ส่วนเจ้าหนี้ทีพีไอยิ่งแฮปปี้ เพราะหนี้จำนวนกว่า 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้รับชำระครบถ้วน ทุกบาททุกสตางค์ โดยไม่มีรายการ “แฮร์คัท” อาทิ ปรับลดหนี้ หรือแปลงหนี้เป็นทุน

เจ้าหนี้จะถูกแบ่งแยกออกเป็น 4 กลุ่ม เรียกว่า Tranche A-B-C-D ใครอยากออกเร็วก็อยู่ทร้านช์ A ระยะคืนหนี้ 5 ปี แต่อัตราดอกเบี้ยก็จะถูกหน่อย เป็น MLR-1% ทร้านช์ B ระยะคืนหนี้ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย MLR ทร้านช์ C และ D คืนหนี้ 10 และ 12 ปีตามลำดับ ดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได 1-4% ในอัตราเดียวกัน

นั่นคือการฟื้นฟูกิจการทีพีไอระดับ “มหากาพย์” ในรอบ 20 ปีที่แล้ว มาวันนี้ เป็นชะตากรรมของการบินไทย ซึ่งจะว่ายากก็ยาก หรือจะว่าง่ายก็ง่าย

ลองศึกษาแบบฉบับที่ดีของคณะผู้บริหารแผนกระทรวงการคลังยุคโน้นดู หรืออาจจะขอคำปรึกษาจาก 5 อรหันต์นำโดย “บี๊กหมง” ดูก็ได้ ตัวตนจริงยังอยู่กันครบ

Back to top button