โบรกฯ ประสานเสียงเชียร์ “ซื้อ” BTS โบรกฯ เชื่อผลงานฟื้นตัวเด่น หลังโควิดคลี่คลาย

โบรกฯ ประสานเสียงเชียร์ “ซื้อ” BTS โบรกฯ เชื่อผลงานฟื้นตัวเด่น หลังโควิดคลี่คลาย


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้นบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS หลังนักวิเคราะห์ต่างแนะนำ “ซื้อ” หุ้น BTS คาดธุรกิจเดินรถ, สื่อโฆษณาผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 ของปีปฏิทิน และเชื่อไตรมาส 3-4 เริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และมีธุรกิจบริหารการเดินรถ, งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง รวมทั้งธุรกิจ KERRY ได้รับผลดีจากโควิด

นอกจากนี้ BTS ยังใกล้เซ็นสัญญางานโครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก และ โครงการงาน O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โดยมีกำหนดลงนามสัญญาในเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ ส่งผลให้มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น 1 บาท/หุ้น

ขณะที่ BTS ยังมีแผนเข้าชิงงานโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ที่เตรียมเปิดทีโออาร์ในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่ง BTS และกลุ่ม BSR มีโอกาสชนะงาน

ทั้งนี้ ราคาหุ้น BTS ปิดตลาดวานนี้ (8 มิ.ย.) อยู่ที่ 12 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 932.57 ล้านบาท และยังมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายที่ 14.30 บาท อยู่ 19%

โดย ด้านนักวิเคราะห์ บล.ไทยพาณิชย์ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น BTS ให้ราคาเป้าหมายที่ 14.30 บาท/หุ้น แม้ผลประกอบการอ่อนแอ แต่ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อ BTS เนื่องจาก ผลประกอบการที่อ่อนแอ หลักๆ เกิดจากผลการดำเนินงานของ U ซึ่งกำไรมีความผันผวนสูง และมีมูลค่าน้อยมากใน valuation ของ BTS (0.1 บาท/หุ้น ในราคาเป้าหมาย) ,ผลกระทบจากจำนวนผู้โดยสารลดลงมีจำกัด

ขณะที่ยังมีปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้น BTS หลายอย่างรออยู่ข้างหน้า ได้แก่ การต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว การเซ็นสัญญาโครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย และสนามบินอู่ตะเภา โดยคาดว่า 2 โครงการจะเซ็นสัญญาในเดือน มิ.ย. คาดว่าจะช่วยหนุนให้มูลค่าของ BTS ปรับขึ้นได้อีกประมาณ 1 บาท/หุ้น นอกจากนี้ BTS ยังประกาศจ่ายเงินปันผล 0.15 บาท/หุ้น ด้วย ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 29 ก.ค.

ส่วนการประกาศเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไปของ BTS โดยจะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,100 ล้านหุ้นนั้น เห็นว่านักลงทุนว่าไม่ควรตื่นตกใจเกี่ยวกับข่าวนี้มากเกินไป เนื่องจากไม่ได้หมายความว่า BTS จะต้องเพิ่มทุนแน่นอน เพียงแต่เป็นการขออนุมัติจำนวนหุ้นและประเภทการจัดสรรจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไว้ล่วงหน้า โดยเชื่อว่าเหตุผลที่ BTS ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนแบบมอบอำนาจทั่วไปเพื่อให้มีทางเลือกในการระดมทุน ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา BTS ก็ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งก็ไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด

ด้านนักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ”ซื้อ” หุ้น BTS ให้เป้าหมาย 13.50 บาท/หุ้น โดยคาดว่าผลประกอบการของ BTS จะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ของปีปฏิทินนี้ (เม.ย.-มิ.ย.63) โดยจำนวนผู้โดยสารลดลงต่ำสุดในเดือน เม.ย.เช่นเดียวกับรายได้จาก VGI ที่รับผลกระทบโควิด ส่วนรายได้ธุรกิจอื่นทรงตัว ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาส 3-4 จะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น หากไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ขณะที่การบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือเดินรถเพิ่ม 4 สถานี และ ในปลายปีนี้จะเปิดเดินรถทั้งเส้น ทำให้รายได้เพิ่มเข้ามา แม้ไม่ได้เป็นก้อนใหญ่ก็ตาม

ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เป็นความหวังกับกลุ่ม BTS ซึ่งหลายปีที่ผ่านมากลุ่ม BTS ชนะการประมูลงานได้มาก

ทั้งนี้คาดว่าปี 63/64 จะมีกำไรปกติ 4.5 พันล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่มีกำไรก่อนรายการพิเศษ 4.7 พันล้านบาท เพราะรับผลกระทบโควิด แต่ในปี 64/65 คาดจะกลับมาเติบโตเป็น 5.7 พันล้านบาท

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น BTS ด้วยราคาเป้าหมาย 13 บาท/หุ้น แม้จะคาดว่าผลประกอบการในครึ่งปีแรกมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบจากปีก่อน จากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสที่มีต่อธุรกิจสื่อและอสังหาริมทรัพย์ แต่คาดจะเห็นการฟื้นตัวในไตรมาสถัดๆไป และจะเห็นการฟื้นตัวได้เร็วสำหรับ BTS จากธุรกิจรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบน้อย จากรายได้หลักมาจากการรับจ้างเดินรถ ไม่ผันผวนตามจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งเราคาดรายได้ O&M จะเติบโต 38% เมื่อเทียบจากปีก่อนในปีนี้

รวมถึงธุรกิจสื่อแม้จะได้รับผลกระทบใน 2 ไตรมาสนี้ แต่คาดจะเริ่มกลับมาเติบโต 95% ได้ในปีหน้า จากสื่อโฆษณานอกบ้านฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มดีขึ้น และ 3) มีโครงการใหญ่ที่อยู่ระหว่างการรอลงนาม ได้แก่ โครงการสนามบินอู่ตะเภา (BTS ถือหุ้น 35%) ซึ่งจะลงนามในเดือนมิถุนายนนี้ และโครงการมอเตอร์เวย์ (BTS ถือหุ้น 40%) นอกจากนี้ บริษัทยังคงสนใจที่จะเข้าร่วมการประมูลโครงการอื่นๆ ของภาครัฐ ทั้งสายสีส้ม (คาดจะเปิด TOR ในเดือนมิถุนายนและประมูลภายในปลายปีนี้) และสายสีแดงที่อาจจะมีการปรับรูปแบบเป็น PPP ซึ่งบริษัทมีความสนใจ

ทั้งนี้คาดการดำเนินงานของ BTS จะอ่อนตัวสุดในไตรมาส 1 ปี 63/64 (เม.ย.-มิ.ย.) จากธุรกิจสื่อที่ลูกค้าชะลอการโฆษณาออกไป และอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องปิดให้บริการตามมาตรการภาครัฐ โดยเราคาดจะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ปี 63/64 เป็นต้นไปจากสถานการณ์ที่คลี่คลาย

ขณะที่ธุรกิจรถไฟฟ้าแม้คาดส่วนแบ่งกำไรจาก BTSGIF จะลดลงจากจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง 70% ในเดือนเม.ย. แต่ปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวมาที่ 50% ของระดับปกติแล้ว แต่รายได้หลักของบริษัทในการรับจ้างเดินรถ (O&M) ยังคงแข็งแกร่ง จากการเปิดส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (ล่าสุดเปิด 4 สถานี สถานีกรมป่าไม้ – วัดพระศรีมหาธาตุ) ซึ่งมีแผนเปิดได้ครบทั้งสายในเดือนธันวาคมนี้ โดยคาดรายได้จะอยู่ที่ 5,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบจากปีก่อน ในปี 63/64 และช่วยชดเชยผลกระทบจากอ่อนตัวในธุรกิจอื่นได้บางส่วน

พร้อมด้วย นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” BTS เป้าหมาย 12.80 บาท/หุ้น โดยประมาณการกำไรสุทธิในปี 63/64 จะลดลง 13% มาที่ 3,300 ล้านบาท และในปี 64/65  กำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้น 8% มาที่ 3,550 ล้านบาท

ขณะที่กำไรสุทธิในปี 62/63 จะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 8,162 ล้านบาท โต 183% จากปีก่อนหน้ากล่าวว่า ธุรกิจในปี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) มีทั้งดีและไม่ดี โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่  กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF ซึ่ง BTS ถือหุ้น 1 ใน 3 ซึ่งจำนวนผู้โดยสารลดลงในช่วงโควิด , บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U ที่มีกิจการโรงแรมในยุโรปต้องหยุดให้บริการในช่วงโควิด  และบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน

แต่ธุรกิจที่ยังเติบโตได้ดี ได้แก่ การบริหารเดินรถโดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือที่ได้เพิ่มการเดินรถ 4 สถานีถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และภายในปลายปีนี้จะวิ่งยาวถึงสถานีคูคต ซึ่งรายได้จากการบริหารการเดินรถไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด  ขณะที่กิจการส่งพัสดุของ KERRY เติบโตสูงในช่วงเกิดโควิดระบาดมีการใช้บริการรับส่งพัสดุมาก และรายได้ก่อสร้างและจัดหารถ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองก็เข้ามาต่อเนื่อง

นอกจากนี้ BTS จะมีโครงการขนาดใหญ่ทยอยเซ็นสัญญา ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คาดจะลงนามราว 19  มิ.ย.นี้ และโครงการร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา(Operation and Maintenance: O&M)มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา(M6)และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี(M81) คาดจะมีการลงนามในเดือน ก.ค.นี้

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งน่าจะเป็นเมกะโปรเจคเดียวที่เตรียมออกเอกสารเชิญชวนประมูล(ทีโออาร์) ในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า BTS จะร่วมทุนกลุ่มเดิม BSR  ที่มี BTS, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เพื่อเข้าร่วมประมูลครั้งนี้

Back to top button