ก.ล.ต. เสนอปรับปรุง “พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เพิ่มประสิทธิภาพออม รองรับวัยเกษียณ

ก.ล.ต. เสนอปรับปรุง "พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" เพิ่มประสิทธิภาพออม รองรับวัยเกษียณ


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ให้เป็นการออมที่รองรับการเกษียณมากยิ่งขึ้น สร้างกลไกช่วยให้สมาชิกมีนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม รวมทั้งผลักดันและส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ ซึ่งจะสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในปี 64 ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ จากการเพิ่มสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ เป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่แรงงานในระบบส่วนใหญ่ยังมีรายได้หลังเกษียณที่ไม่เพียงพอ การออมเพื่อการเกษียณจึงเป็นวาระแห่งชาติที่มีการบรรจุทั้งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาตลาดทุนไทย

โดยปัจจุบัน PVD ซึ่งเป็นแหล่งเงินออมสำคัญรองรับการเกษียณแก่ลูกจ้าง ยังมีสมาชิกเพียง 3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนลูกจ้างภาคเอกชนในระบบ และมีจำนวนสมาชิกที่ได้รับเงินหลังเกษียณมากกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำที่พึงมี เพียงร้อยละ 24 ของจำนวนสมาชิก PVD เท่านั้น

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้เสนอหลักการการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อเพิ่มศักยภาพ PVD ให้รองรับการเกษียณของลูกจ้างและช่วยผลักดันให้แรงงานในระบบมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 โดยมีหลักการสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้

(1) สนับสนุนให้นายจ้างที่มี PVD เป็นสวัสดิการอยู่แล้ว จัดให้ลูกจ้างสมัครเป็นสมาชิกได้โดยอัตโนมัติเว้นแต่ลูกจ้างจะปฏิเสธ

(2) ส่งเสริมกลไกที่ช่วยให้สมาชิกมีนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม โดยกำหนดให้กองทุนเลือกนโยบายการลงทุนให้แบบอัตโนมัติสำหรับสมาชิกที่ไม่เลือกนโยบายการลงทุนด้วยตนเองที่สอดคล้องกับคุณลักษณะของสมาชิก เช่น อายุ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้

(3) เพิ่มประสิทธิภาพ PVD เช่น การปรับปรุงกลไกการคุ้มครองสมาชิกให้ได้รับความเป็นธรรม โดยกำหนดคุณสมบัติ บทบาทหน้าที่ ของคณะกรรมการกองทุน การแจ้งให้สมาชิกทราบถึงความเพียงพอของเงินออม โดยการนำเสนอการคาดการณ์เงินออมยามเกษียณ การกำหนดมาตรฐานข้อบังคับและการรับจดทะเบียน PVD เพื่อลดภาระกับภาคเอกชน และการเพิ่มความยืดหยุ่นในการออมให้ลูกจ้าง

และ (4) การพัฒนา PVD เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนการออมภาคบังคับของแรงงานภาคเอกชนในระบบ

Back to top button