KTIS เลื่อนเปิด “นครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์” ไตรมาส 4 หลังนำเข้า-ติดตั้งเครื่องจักรล่าช้า

KTIS เลื่อนเปิด "นครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์" ไปไตรมาส 4 หลังนำเข้า-ติดตั้งเครื่องจักรล่าช้า


นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนของบริษัท ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การนำเข้าและติดตั้งเครื่องจักรล่าช้ากว่ากำหนดเดิม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะดำเนินการได้ทันฤดูการหีบอ้อยปี 64/65 ในช่วงไตรมาส 4/64

โดยนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ดำเนินการโดย บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเตรียล จำกัด (GKBI) ซึ่งเป็นการร่วมทุนในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ระหว่าง บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTIS ถือหุ้น 100% กับบริษัท จีจีซี เคมิคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยที่สอดรับกับแนวนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) อันเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนใกล้เคียงก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย โดยในเฟสแรกจะมีโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โรงผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง

ทั้งนี้กลุ่ม KTIS พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐที่จะเร่งรัดพัฒนาประเทศด้วยโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยกลุ่ม KTIS เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน จำนวน 18 หน่วยงาน

กลุ่มเคทิสเรามีนโยบายในการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งตรงกับโมเดล BCG เพราะเราต้องสร้างความมั่นคงทางรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรและแรงงานในพื้นที่ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (B) ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร อีกทั้งยังเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (C) โดยกระบวนการผลิตของกลุ่มเคทิสเป็น Zero Waste Factory คือการนำสิ่งเหลือใช้ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด

ทั้งนี้เป็นเศรษฐกิจสีเขียว (G) คือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการรณรงค์ให้ชาวไร่ลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมให้ใช้ชีววิถีในการจัดการแมลงศัตรูพืช รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด เช่น ให้สิทธิในการนำอ้อยสดเข้าหีบก่อน การจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ชาวไร่เพื่อซื้อรถตัดอ้อย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดอ้อยสด และการใช้รถตัดอ้อยของโรงงานเองเข้าไปบริการชาวไร่” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

Back to top button