พาราสาวะถี

ผ่านพ้นกันไปกับญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญที่ยื่นโดยพรรคเพื่อไทย เป้าหมายคือเพื่อที่จะเสนอแนะรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ไม่ได้มีอะไรใหม่ สิ่งที่อภิปรายกันก็เป็นประเด็นที่ปรากฏไปเป็นข่าวก่อนหน้านี้ทั้งหมด ส่วนรัฐบาลก็ตอบไปตามหลักการไม่ได้มีอะไรทำให้ยุ่งยากใจ ถือเป็นการยื่นตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลได้ฟอกตัวเองแต่อย่างใด


อรชุน

ผ่านพ้นกันไปกับญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญที่ยื่นโดยพรรคเพื่อไทย เป้าหมายคือเพื่อที่จะเสนอแนะรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ไม่ได้มีอะไรใหม่ สิ่งที่อภิปรายกันก็เป็นประเด็นที่ปรากฏไปเป็นข่าวก่อนหน้านี้ทั้งหมด ส่วนรัฐบาลก็ตอบไปตามหลักการไม่ได้มีอะไรทำให้ยุ่งยากใจ ถือเป็นการยื่นตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลได้ฟอกตัวเองแต่อย่างใด

มีประเด็นที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจตอกกลับฝ่ายค้านแล้วเป็นสีสันเสียมากกว่าจะเป็นเรื่องหลักคือ กรณีส.ส.อยู่ฟังท่านผู้นำชี้แจงน้อย ซึ่ง ชวน หลีกภัย ก็ได้อธิบายทันทีว่านี่เป็นมาตรการของสภาผู้ที่ไม่ได้อภิปรายขอให้ออกไปฟังนอกห้องประชุม เพื่อลดการแออัด อันเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสภา พอเจอประเด็นนี้ไปทุกอย่างก็จบ แต่ท่านผู้นำก็พูดถึงประเด็นการรังเกียจทหารของนักการเมืองเพิ่มเข้ามาอีก

ก่อนที่จะมิวายแขวะฝ่ายตรงข้ามว่า บางคนเป็นทหารแต่ไม่เติบโตจึงหันมาเล่นการเมืองแล้วมาโจมตีทหาร พร้อมด้วยวลีเด็ดขออย่าแยกทหารออกจากประชาชน หากยังคงเป็นผบ.ทบ.ก็คิดอ่านกันได้เลยว่า นี่เป็นสัญญาณของการเตรียมก่อรัฐประหาร พอไม่ใช่ก็ไม่มีอะไรนอกจากเป็นการแสดงออกถึงการปกป้องพวกพ้องในเครื่องแบบกันอย่างเต็มที่ และเป็นการตีกันประเด็นข่าวลือการรัฐประหารไปในตัว ซึ่งคงไม่มีใครเชื่อ เพราะทุกครั้งที่เกิดการยึดอำนาจมักจะทำกันแบบเงียบ ๆ หรือไม่ก็ตูมเดียวเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การอภิปรายในสภาไม่มีอะไรหวือหวา แต่ที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนเวลานี้หนีไม่พ้นปมของ กบฏปชป.” กับกรณี 16 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ปิดสวิตช์ส.ว.ไม่ให้ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล โดยที่ภายในพรรคเองก็มีความพยายามที่จะเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบ แม้จะมีการอ้างเอกสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อพรรคมีมติร่วมเสนอร่างแก้ไขกับพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้ว ก็ไม่ควรที่จะมีสมาชิกของพรรคแตกแถว

ไม่ต่างอะไรจากพรรคแกนนำรัฐบาลที่ออกมาเรียกร้องถามถึงมารยาทของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไปลงชื่อ ที่ไม่ได้มีเฉพาะพรรคเก่าแก่ อีกนัยหนึ่งเหมือนเป็นการบีบให้ถอนตัวไปในคราวเดียวกันด้วย และก็เห็นผลเมื่อมี 3 ส.ส.ได้ขอถอนชื่อจาก ประกอบด้วย จุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ย้ายคอกมาจากอดีตอนาคตใหม่ พลตรีทรงกลด ทิพย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังชาติไทย และสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่

สองรายหลังไม่ได้มีมิติทางการเมืองอะไรให้พูดถึง น่าสนใจกรณีของจุลพันธ์มากกว่า เป็นการถอนตัวโดยสมัครหรือได้รับคำสั่งจากผู้ใหญ่ในพรรค อันหมายถึงเจ้าของพรรคที่แท้จริงคือคนในตระกูลศิลปอาชา แต่ว่า “ลูกท็อป” วราวุธ ออกมาปฏิเสธทันควันว่าไม่มีการบังคับ สั่งการแต่อย่างใด แต่เป็นการแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อให้เข้าใจประเพณีของพรรคปลาไหล เมื่อร่วมรัฐบาลแล้วกำหนดท่าทีร่วมกันอย่างไรก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น

เป็นอันเข้าใจกันตามนี้ แต่ที่ประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะไม่จบกันง่าย ๆ หาก 16 กบฏยังคงยืนกรานในท่าทีดังกล่าว จะส่งผลอะไรหรือไม่ ล่าสุด สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ก็ได้ออกมาระบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เหนื่อยแต่ไม่ท้อ ก็ตลกดีมี 8 พรรคร่วมรัฐบาลไปลงชื่อ แต่ทัวร์กลับมาลงที่ประชาธิปัตย์และกับคนชื่อสาทิตย์ แรงสุดคือ ทำไมไปลงชื่อร่วมกับก้าวไกล เสียงวิจารณ์ลักษณะนี้ย่อมมาจากพวกสุดโต่ง หลับหูหลับตาเชียร์เผด็จการสืบทอดอำนาจอย่างแน่นอน

เหมือนอย่างที่สาทิตย์บอก เข้าใจในความรู้สึกแต่แถลงชัด 2 ครั้งว่า พรรคการเมืองที่มาลงชื่อไม่ได้เห็นตรงกันทุกเรื่องบางเรื่องเห็นไม่ตรงกัน และบางเรื่องไม่มีวันเห็นตรงกัน แค่เห็นตรงกันเรื่องเดียวคือมาตรา 272 เท่านั้นจบ แต่ทำไมบางฝ่ายบางพวกจึงไม่จบ เป็นเพราะเสียหน้าอย่างเดียวเลยใช่หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ซีกของพรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยจึงได้แต่ออกมาให้กำลังใจส.ส.กบฏจากพรรคคู่รักคู่แค้นรวมทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองว่ามีโอกาสที่ญัตตินี้ของก้าวไกลไม่น่าจะเดินไปถึงจุดหมาย พรรคนายใหญ่จึงถือโอกาสเชิญชวนพรรคร่วมฝ่ายค้านสำคัญหันมาร่วมลงชื่อกับ 4 ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยแทน ซึ่งจะทำให้เป็นเจ้าของญัตติร่วมกัน หนึ่งในนั้นก็มีประเด็นขอแก้ไขมาตรา 272 ด้วย โดยในความหมายของ สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านบอกว่า นี่คือแผนสำรองเหมือนการฉวยโอกาสหากญัตติของก้าวไกลมีปัญหา

ยังถือเป็นการเล่นเกมและเป็นความไม่แน่นอนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะมีโอกาสสำเร็จหรือไม่ ยิ่งได้ฟังส.ว.ลากตั้งประกาศชัด มั่นใจการจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญอยู่ที่ส.ว.ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงใช้ม็อบมากดดันก็ไม่มีผลในการตัดสินใจ” ยิ่งทำให้เห็นว่า ถ้าไม่มีรัฐประหารการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ราบรื่น เรียบร้อยนั้น ต้องมีสัญญาณตรงมาจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เพื่อให้ส.ว.ลากตั้งที่เลือกมากับมือแสดงเจตนารมณ์ต่อสังคมให้ชัดเจนว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ

กระนั้นก็ตาม ม็อบจะกดดันส.ว.ได้หรือไม่ไม่รู้ ที่แน่ ๆ แกนนำที่นัดหมายชุมนุมใหญ่ 19 กันยายนนี้ ประกาศมาชัดแจ้งแล้วว่า จะเป็นม็อบค้างคืนโดยปักหลักที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถ้าคนล้นก็อาจจะมีการปิดถนนราชดำเนินกลาง สะพานผ่านพิภพลีลา นี่ถือเป็นการประกาศท้าทายและวัดใจฝ่ายกุมอำนาจอย่างแท้จริง พร้อมกับการประกาศกร้าวว่า วันรุ่งขึ้นจะเคลื่อนขบวนไปยื่นข้อเรียกร้องยังทำเนียบรัฐบาล

กงล้อการเมืองมันมักจะหมุนวนกลับมายังจุดเดิมอย่างซ้ำซาก แต่หวังว่าจะเป็นเพียงแค่แนวทางปฏิบัติที่เหมือนกันเท่านั้น โดยจุดจบจะไม่เหมือนความเคลื่อนไหวในอดีตที่ผ่านมา เมื่อแสดงท่าทีอันแข็งกร้าวและยกระดับความเข้มข้นกันขนาดนี้ ก็ถือเป็นจุดวัดใจว่าม็อบใหญ่จะได้รวมตัวกันตามวันเวลาที่นัดหมายหรือ สุดท้ายจะจบลงตรงปลายกระบอกปืนอีกหรือไม่

Back to top button