พาราสาวะถี

จากคำว่า “มารยาท” ส่งผลให้ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลมีอันต้องตกไปทันที หลังจากที่มีการถอนชื่อของส.ส.ซีกพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เมื่อคล้อยหลังจากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง พรรคเพื่อไทยก็ได้รวมรายชื่อ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ 4 ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที หนึ่งในนั้นก็มีเรื่องของมาตรา 272 รวมอยู่ด้วย เรียกว่าดิ้นกันอย่างไรก็หนีไม่พ้น


อรชุน

จากคำว่า มารยาท” ส่งผลให้ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลมีอันต้องตกไปทันที หลังจากที่มีการถอนชื่อของส.ส.ซีกพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เมื่อคล้อยหลังจากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง พรรคเพื่อไทยก็ได้รวมรายชื่อ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ 4 ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที หนึ่งในนั้นก็มีเรื่องของมาตรา 272 รวมอยู่ด้วย เรียกว่าดิ้นกันอย่างไรก็หนีไม่พ้น

แต่ท่วงทำนองเหล่านี้หาได้มีความหมายใด ๆ ไม่ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างที่รู้กันการแก้ไขในชั้นของสภานั้น ต้องเป็นการประชุมร่วมรัฐสภา หมายความว่า จะมีเสียงของส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น หัวใจสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเป็นญัตติของฝ่ายไหนและจะแก้ในประเด็นใด แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจสั่งการตัวจริงเสียงจริง ไฟเขียวให้ส.ว.ลากตั้งทั้ง 250 คนมีอิสระในการดำเนินการหรือไม่ ซึ่งดูจากอาการวงแตกของกลุ่มส.ว.อิสระ ก็น่าจะอธิบายทุกอย่างได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ปล่อยให้ทุกฝ่ายว่ากันไปในมุมที่เป็นความเห็นกันอย่างหนำใจแล้ว ในที่สุด วิษณุ เครืองาม ก็ได้เวลาออกมาร่ายยาวถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการยุบสภา โดยขมวดปมแบบสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเดินไปในแนวทางใด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะคลอดออกมาก็ไม่มีวันที่จะจบได้เร็วภายใน 1 ปีอย่างแน่นอน ตรงนี้หากมองจากโลกแห่งความเป็นจริงและยึดหลักข้อกฎหมาย ก็ต้องยอมรับว่าเป็นไปตามนั้น

การย่นย่อระยะเวลาตามที่พรรคฝ่ายค้านนำเสนอ หรือแม้แต่ส่วนที่ฝ่ายรัฐบาลบอกว่าเร็วสุดในเวลา 8 เดือนนั้น มันก็ไม่ได้ง่ายเช่นนั้น ปราการด่านสำคัญที่จะต้องผ่านไปให้ได้แม้ว่าฝ่ายสืบทอดอำนาจจะยอมถอนสมอก็คือ องค์กรตีความอย่างศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะหมู่หรือจ่า และก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด ขณะที่อีกส่วนที่สำคัญคือขั้นตอนในการนำร่างแก้ไขขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ที่ตรงนี้เป็นพระราชอำนาจโดยไม่มีใครไปก้าวล่วงในการกำหนดระยะเวลาได้

สรุปแล้ว หากฝ่ายที่ต้องการแก้ไขมีเป้าประสงค์คือทำให้สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคำนึงถึงเงื่อนเวลาว่าต้องเสร็จแล้วหรือช้า ขอให้แก้ไขได้เป็นลำดับแรกก่อนก็น่าจะเพียงพอแล้ว จากนั้นก็เป็นเรื่องของกลไกตามขั้นตอน สิ่งที่น่าสนใจอีกประการจากความเห็นของวิษณุก็คือ ข้อเรียกร้องที่ว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ทันที คำถามที่ตามมาคือ จะเลือกได้อย่างไรหากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ

ครั้นจะบอกว่า ไม่ได้มีการแก้ไขเนื้อหาที่สำคัญในรัฐธรรมนูญ ปุจฉาย้อนกลับมาจากเนติบริกรของคณะเผด็จการคสช.ก็คือ แล้วจะไปแก้หาพระแสงอะไร ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ว่าเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะต้องยุบสภาแล้วเลือกตั้งทันที ต้องมีการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรมนูญกันก่อน อย่างน้อยที่ต้องมีแน่ ๆ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และหากจะให้มีการเลือกตั้งส.ว.ก็ต้องมีกฎหมายลูกตามมาด้วย

เมื่อมองในมุมของศรีธนญชัยรอดช่อง ก็ต้องยอมรับกันว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจยังมีเวลาอยู่ต่อไปอีกนาน ไม่ต้องไปพูดถึงกระแสกดดันที่เกิดขึ้นเวลานี้ คงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะหากยุบสภาไปแล้วเลือกตั้งใหม่เวลานี้ ก็ได้ผู้นำคนเดิมกลับมาอยู่ดี แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร พอเป็นไปเช่นนี้ก็เริ่มทำให้ต้องหันมามองกันต่อไปว่า เวลาจากนี้ไปท่านผู้นำจะต้องรีบแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ามาแทนที่คนที่ลาออกไปโดยเร็ว

เวลานี้กระแสเริ่มแรงคือรายชื่อของ ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการอังค์ถัด และอดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกหรือ WTO ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งล่าสุด ก็ออกมาปฏิเสธที่จะพูดถึงกระแสข่าวดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้บอกปัดที่จะไม่รับตำแหน่งเสียทีเดียว และพอมองในแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นและปัญหาโควิด-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ก็พอจะมองเห็นว่าถ้าด็อกเตอร์ซุปเข้ามาร่วมรัฐบาลเรือเหล็กนั้นน่าจะมีความเหมาะสม

เอาแค่เรื่องการชุมนุมของขบวนการคนหนุ่มสาวที่เกิดขึ้นเวลานี้ อดีตรัฐมนตรีผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของการเกาเหลาในยุคของรัฐบาลชวนก็ตอบว่า ต้องระมัดระวังเรื่องการประท้วง แต่ถือเป็นธรรมชาติในสถานการณ์แบบนี้ที่ทุกคนรู้สึกเดือดร้อน และอยากแสดงออก ดีที่สุดคือให้แสดงออก แต่ต้องสร้างสรรค์ เวลานี้ไม่มีที่ไหนดีในโลก แต่ถ้าจะให้ดีขึ้นทุกคนต้องช่วยกัน จะให้แก้ไขอะไรและอย่างไรก็ออกมาพูดได้ เพื่อนำเสนอรัฐบาลให้แก้ไข ตนจึงเรียกว่าสร้างสรรค์

ถือเป็นการอธิบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับความคิดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หากมีการแต่งตั้งเข้ามารับตำแหน่งจริง ก็น่าจะได้คนในโควตาผู้นำอีกรายที่สามารถจะตอบโต้ทางการเมืองได้ ในท่วงทำนองแบบผู้ดี เหมือนที่ใช้งาน ดอน ปรมัตถ์วินัย ในการตอบโต้องค์กรต่างประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่คนซึ่งเคยกินเกาเหลาชามโตมาแล้วจะต้องไม่ลืมก็คือ ทฤษฎีแบ่งแยกแล้วปกครองนั้น ทำให้กูรูที่มาร่วมงานกับเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นเสียคนมาแล้วอย่างน้อยก็ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

หันไปมองความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่ประกาศว่าจะปักหลักค้างคืนในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 19 กันยายนก่อนจะเดินไปยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาลในวันรุ่งขึ้นนั้น ล่าสุด มีประกาศจากทางมหาวิทยาลัยแล้วว่า ไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้พื้นที่จัดกิจกรรม โดยอ้างว่าไม่เข้าเงื่อนไข 3 ข้อที่ทางมหาวิทยาลัยเพิ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา

น่าสนใจคือ ข้อสุดท้ายที่ระบุว่า เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการจัดชุมนุมทางการเมืองให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและปลอดภัย ให้มีการตกลงร่วมกันระหว่างนักศึกษา ผู้จัดชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ และมหาวิทยาลัย ขณะที่วันนี้ก็มีการนัดหมายกลุ่มที่เรียกว่าประชาคมธรรมศาสตร์มาร่วมหารือกันว่าจะอนุญาตให้มีการจัดชุมนุมหรือไม่ ซึ่งเมื่อมองไปยังรายชื่อของคนที่เคลื่อนไหวนัดหมายแล้วก็ล้วนแต่เป็นพวกเลียท็อปบูทกันทั้งนั้น นี่คือบทพิสูจน์ที่ว่าธรรมศาสตร์ไม่มีมนต์ขลังเหมือนอดีตอีกต่อไปแล้ว

Back to top button