ไทยเบฟ-TU ก้าวสู่อาหารเสริม.!

เป็นการโคจรมาพบกันระหว่าง “สิริวัฒนภักดี” กับ “จันศิริ” หลังจากประกาศตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด โดยมี “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” เบอร์หนึ่งของไทยเบฟ เป็นกรรมการ และมี “ธีรพงศ์ จันศิริ” เบอร์หนึ่งของ TU ร่วมเป็นกรรมการ...


สำนักข่าวรัชดา

เป็นการโคจรมาพบกันระหว่าง “สิริวัฒนภักดี” กับ “จันศิริ” หลังจากประกาศตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด โดยมี “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” เบอร์หนึ่งของไทยเบฟ เป็นกรรมการ และมี “ธีรพงศ์ จันศิริ” เบอร์หนึ่งของ TU ร่วมเป็นกรรมการ…

โดยโครงสร้างผู้ถือหุ้นมีบริษัท เบฟเทค จำกัด ในกลุ่มไทยเบฟ ถือหุ้น 50.9999% บริษัท ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TU ถือหุ้น 49% และบริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด ถือหุ้นอีก 0.0001%

ทว่าแม้ชื่อบริษัทใหม่ดูธรรมด๊าธรรมดา มีทุนจดทะเบียนแค่ 10 ล้านบาท (ซึ่งเล็กไปสำหรับบริษัทร่วมทุนในกลุ่ม “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” และ TU) แต่พอเห็นชื่อชั้นของบอร์ดแล้ว แอบซ่อนนัยความหมายสำคัญไว้หลายอย่าง..!!

ขณะที่วัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนนั้น เพื่อผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ…

ก็น่าคิดว่า “สิริวัฒนภักดี” ซึ่งเป็นเจ้าพ่อเครื่องดื่ม กับ “จันศิริ” เป็นที่รู้จักในชื่อเจ้าพ่ออาหารทะเลกระป๋อง ฉายาราชาทูน่าโลก…ถ้าเป็นสินค้าอาหารจะเป็นอย่างไร..? ส่วนเครื่องดื่มจะเป็นรูปแบบไหน..?

ถ้ามองในแง่ไทยเบฟ เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มชื่อดังหลาย ๆ แบรนด์อยู่แล้ว น่าจะใช้คาปาซิตี้ของกลุ่มไทยเบฟมาช่วยได้…ส่วน TU ถนัดเรื่องของอาหาร จะมีการต่อยอดใช้ผลิตภัณฑ์จาก TU มาพัฒนาเป็นสินค้ารูปแบบใหม่หรือไม่..?

อย่าลืมว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา TU เปิดเกมรุกสินค้านวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากบางโปรดักส์

เช่น ผลิตภัณฑ์ Yellowfin Tuna Slices หรือทูน่าแล่แผ่นบางปรุงรสพร้อมรับประทาน ที่ทำจากเนื้อปลาทูน่าสายพันธุ์ครีบเหลือง มีลักษณะคล้ายแฮม วางจำหน่ายในยุโรป, สหรัฐ และจีน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทูน่าแคลเซียมที่พัฒนาจากกระดูกปลา ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

ที่สำคัญ ถ้าจำกันได้ ก่อนหน้านี้ “ธีรพงศ์” เพิ่งเข้าไปถือหุ้น บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP ซึ่งเป็นบริษัทที่คิดค้นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคนและสัตว์…

เอ๊ะ..!! สองเคสนี้จะมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่..? อย่างไร..?

สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้…อาจมีการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ จาก IP เนื่องจาก IP มีความถนัดด้านการคิดค้นนวัตกรรมอยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัด เพราะบริษัทไม่ใหญ่มาก ก็อาจให้ IP เป็นคนคิดค้น ส่วนบริษัทที่ผลิตและขายอาจเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยเบฟกับ TU

โดยสามารถใช้คาปาซิตี้ของไทยเบฟต่อยอดได้เลย ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ขวดบรรจุภัณฑ์ โลจิสติกส์ ช่องทางการจัดจำหน่าย และด้านการตลาด ส่วนถ้าต้องการใช้วัตถุดิบจากปลา หรือสัตว์ทะเลอื่น ๆ TU ก็ช่ำชองอยู่แล้ว…

ดีลนี้จึง win-win กันทั้งสองฝ่าย…

แถมช่างประจวบเหมาะกับก่อนหน้านี้ TU มีการแก้ไขบริคณห์สนธิ “เพื่อรองรับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์กลุ่มบำรุงสุขภาพ ยา ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น

แสดงว่าปูทางไว้นานแล้วใช่มั้ยคะ “เฮียธีรพงศ์”

ในแง่ของเกมธุรกิจก็ว่ากันไป…แต่ไฮไลต์มันอยู่ที่เบอร์หนึ่งด้านเครื่องดื่มของอาเซียน โคจรมาเจอกับเบอร์หนึ่งทูน่าโลกนี่แหละ…จึงเป็นที่กล่าวขานทั้งในแวดวงนักการตลาดและวงการตลาดทุน..!!

โดยเฉพาะนักลงทุนที่คาดหวังในเชิงบวกค่อนข้างสูง (ไม่บ่อยหรอกนะที่จะเห็นกลุ่มไทยเบฟให้คนอื่นมาร่วมด้วย แต่คราวนี้กลับเปิดโอกาสให้ TUแสดงว่าต้องเห็นอะไรดีในตัว TU แน่ ๆ)

วานนี้จึงเห็นราคาหุ้น TU เกิดอาการระริกระรี้…ระหว่างวันปรับขึ้นไป 14.80 บาท ก่อนจะโรยรา ลงมาปิดที่ระดับ 14.60 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 3.55% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 859 ล้านบาท

แหม๊…นี่ถ้า “เฮียธีรพงศ์” ขยันโปรยข่าวดีบ่อย ๆ ก็คงดี หุ้น TU จะได้เปล่งรัศมีมากยิ่งขึ้น…

…อิ อิ อิ…

Back to top button