ลางร้าย ‘ยางพารา–ปาล์มน้ำมัน’

องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (พีตา) ได้ออกมาเรียกร้องให้ต่อต้านกะทิสำเร็จรูป และมะพร้าวจากประเทศไทยเพราะเห็นว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณสัตว์ ทำให้ห้างหลายแห่งในประเทศอังกฤษแบนกะทิจากไทยไปเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้มีการเคลื่อนไหวในทำนองนี้อีก คราวนี้เป็นอุตสาหกรรมอาหารที่เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษจัดทำแผนการที่จะยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่าในเขตโซนร้อนเพื่อปลูกโกโก้ ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและถั่วเหลืองหลังจากที่ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (พีตา) ได้ออกมาเรียกร้องให้ต่อต้านกะทิสำเร็จรูป และมะพร้าวจากประเทศไทยเพราะเห็นว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณสัตว์ ทำให้ห้างหลายแห่งในประเทศอังกฤษแบนกะทิจากไทยไปเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้มีการเคลื่อนไหวในทำนองนี้อีก คราวนี้เป็นอุตสาหกรรมอาหารที่เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษจัดทำแผนการที่จะยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่าในเขตโซนร้อนเพื่อปลูกโกโก้ ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและถั่วเหลืองหลังจากที่ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

มีความเป็นไปได้มาก ว่า การเคลื่อนไหวนี้ น่าจะเป็นลางร้ายต่อ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและยางพาราในบ้านเราและในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในอนาคตไม่น้อย  แม้ยังไม่มีภาพที่ชัดเจนว่าจะรุนแรงแค่ไหน

บริษัทอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และซัพพลายเชนอาหารรายใหญ่จำนวน 20 บริษัท ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาลอังกฤษเพื่อเรียกร้องให้เข้มงวดระเบียบที่จะปกป้องป่าไม้เขตร้อน หรือป่าฝนให้มากขึ้น โดยบริษัทที่ลงนามในหนังสือฉบับนี้มีทั้ง เทสโก้ มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ MRW.L SBRY.L ยูนิลีเวอร์ เนสต์เล่ กรีนคอร์ กรุ๊ป แมคโดนัลด์ คอร์ป และบริษัทปศุสัตว์อีกหลายแห่ง

อังกฤษได้เคลื่อนไหวเพื่อที่จะลงโทษทางกฎหมายแก่บริษัทที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าเพื่อพัฒนาแผนริเริ่มอุตสาหกรรม มีการเสนอกฎหมายให้บริษัทขนาดใหญ่ จะต้องรายงานว่า ได้สินค้าในเขตโซนร้อนมาอย่างไร และจะห้ามบริษัทในอังกฤษใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการเก็บเกี่ยวโดยผิดกฎหมายในประเทศต้นทาง

อย่างไรก็ดีบริษัทที่ลงนามในจดหมายเปิดผนึกนี้ ระบุว่า ระเบียบที่เสนอใหม่ยังมีช่องโหว่อีกมาก เช่น เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา มักสามารถถางป่าเพื่อปลูกพืชผลส่งออกได้โดยไม่ผิดกฎหมาย บริษัทเหล่านี้จึงต้องการให้ระเบียบใหม่ของอังกฤษสามารถประยุกต์ใช้กับการตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมด ไม่ใช่แต่ในกรณีที่มีการทำลายป่าโดยผิดกฎหมายเท่านั้น

นอกจากนี้บริษัทเหล่านี้ ยังเป็นกังวลด้วยว่า กฎหมายที่เสนอนั้น จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับบริษัทขนาดเล็กที่อาจจะนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากภูมิภาคที่ทำลายป่าได้  เช่นสินค้าอย่างยางพารา เป็นต้น

การเคลื่อนไหวเหล่านี้พยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่าต่อสภาวะอากาศและต่อธรรมชาติว่ามีผลกระทบพอ ๆ กันไม่ว่าการตัดต้นไม้นั้นถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย

การทำหนังสือเปิดผนึกของอุตสาหกรรมอาหารชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ได้ยกเหตุผลมานานว่า ไม่มีประโยชน์ที่อังกฤษจะปกป้องภูมิสถาปัตย์ของตนเอง หากส่วนผสมในอาหารหรืออาหารสัตว์ เช่น เนื้อวัว โกโก้ ถั่วเหลือง ยางพารา และน้ำมันปาล์ม เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ

โฆษกรัฐบาลอังกฤษได้ออกมาให้ความเห็นที่เห็นพ้องกับบริษัทเหล่านี้แล้วว่า การขยายเกษตรกรรม ไม่ควรจะทำลายระบบนิเวศอื่น ๆ และสัญญาว่าจะให้รัฐมนตรีหาหนทางที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการย้ายถิ่น

ไม่เพียงแต่กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่ไม่พอใจกับการทำลายป่า กลุ่มผู้บริโภคก็มีความไม่พอใจมากขึ้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีความเชื่อมโยงกับการทำลายป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่า อเมซอน

จากผลการสำรวจขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) 67% ของผู้บริโภคในอังกฤษต้องการให้รัฐบาลดำเนินการมากกว่านี้เพื่อจัดการกับปัญหานี้ และ 81% ต้องการให้มีความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับต้นทางของสินค้าที่นำเข้าไปยังอังกฤษ

รายงานที่ชี้ให้เห็นว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าในแถบลุ่มแม่น้ำอเมซอนมากขึ้นในปีนี้ ได้กระตุ้นให้เกิดความกังวล และตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก และมีการประเมินว่า การตัดต้นไม้และการแผ้วถางที่ดินเพื่อทำการเกษตร มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 11%

ด้วยเหตุนี้จึงมีบางบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เช่น แมคโดนัลด์ ได้กำหนดเส้นตายที่จะยกเลิกผลิตภัณฑ์จากป่าฝน ออกจากซัพพลายเชนของบริษัทภายในปี 2573

อย่างไรก็ดี ปัญหานี้มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร กลุ่มปาล์ม ออยล์ มอนิเตอร์ กลัวว่าการเปลี่ยนแปลงที่ได้มีการเสนอนั้น จะกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ห่างไกลและโต้แย้งว่า การทำลายป่าไม่ใช่เป็นผลเสียทั้งหมด หากประเทศกำลังพัฒนาต้องถางป่าเพื่อปลูกพืชผลไว้เป็นอาหารไว้เลี้ยงประชาชน ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี

แม้ว่าเรื่องนี้ยังจะต้องถกเถียงกันอีกพอสมควร แต่กระแสการปกป้องสิ่งแวดล้อม น่าจะมีแรงส่งมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน หลังจากที่เกิดวิกฤติสุขภาพจากการระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างรุนแรงไปทั่วโลก  ประเทศไทยในฐานะที่ยังถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นจำนวนมาก น่าจะต้องเริ่มคิดและวางแผนไว้ได้แล้วว่า หากการเรียกร้องของอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกสัมฤทธิ์ผล เราจะหาทางออกกันอย่างไร

อย่าให้ปัญหามันเกิดแบบเรื่องกะทิ…รู้ตัวอีกทีก็ทำอะไรไม่ทันแล้ว!

Back to top button