“ทริสฯ” คงอันดับเครดิต TCAP ที่ A แนวโน้ม “คงที่” มองหนี้สินต่ำ-ตำแหน่งการตลาดแกร่ง!

ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ …


ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ที่ระดับ “A” พร้อมคงแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจที่หลากหลายของบริษัท ภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ และสถานะด้านความเสี่ยงที่อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ อันดับเครดิตยังคงคำนึงถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องของบริษัทย่อยที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม อับดับเครดิตถูกจำกัดด้วยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

โครงสร้างทางธุรกิจที่กระจายตัว

ด้าน สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างทางธุรกิจที่กระจายตัวซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจด้านการเงินอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจประกัน และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บริษัทมีบริษัทย่อยที่สำคัญ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (THANI), บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (TNS) และ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) (TNI)

สำหรับธุรกิจธนาคาร บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้น 20% ในธนาคารทหารไทย (TMB) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย ในอีกหลายปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะประกอบด้วยส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (TMB) 30% และอีก 70% ที่เหลือจะมาจากบริษัทย่อยและบริษัทร่วมอื่น ๆ

โดยการประเมินสถานะทางธุรกิจของบริษัทสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัท โดยบริษัทราชธานีลิสซิ่งถือว่าโดดเด่น และอยู่ในตลาดเช่าซื้อรถบรรทุกและรถหรูมาอย่างยาวนาน ในขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต มีความได้เปรียบด้านการเสนอบทวิเคราะห์ที่มีคุณภาพสูง และการดูแลกลุ่มลูกค้าสถาบันแบบครอบคลุม และบริษัทธนชาตประกันภัย ครองอันดับที่ 6 ในตลาดประกันภัยรถยนต์ โดยมีส่วนแบ่งตลาด 4.90% ในแง่ของเบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 2562

ภาระหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับภาระหนี้สินทางการเงินภายใต้งบการเงินรวมให้อยู่ที่ระดับต่ำได้ต่อไป โดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีการจ่ายเงินปันผลพิเศษ มีการซื้อคืนหุ้น และบริษัทร่วมอาจมีผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะอ่อนแอของในปี 2563

สำหรับในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1.50 เท่า เทียบกับ 1.08 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่าหุ้นกู้คงค้างของบริษัททั้งหมดจะอยู่ที่ 1.1-1.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 2 ปีข้างหน้า รวมถึงยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลแบบก้าวหน้าต่อไป (Progressive Dividend Payout Policy)

ความสามารถในการทำกำไรอยู่ภายใต้แรงกดดัน

ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะอยู่ภายใต้แรงกดดันในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า สะท้อนถึงความท้าทายในการดำเนินงานของบริษัทร่วมที่กำลังเผชิญกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ การเสื่อมคุณภาพของสินทรัพย์ และรายได้ค่าเช่าที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแหล่งรายได้ที่หลากหลายของบริษัทจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แม้สภาพแวดล้อมด้านเครดิตจะมีความท้าทาย แต่เราก็คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทจะยังคงมีเสถียรภาพในช่วง 2 ปีข้างหน้า อันเป็นผลมาจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง และการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ

โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยมาตรฐาน (ROAA) ของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อยู่ที่ 3.59% เมื่อปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม โดยคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยมาตรฐานที่ระดับสูงกว่า 3% ในช่วงปี 2564-2565

สถานะด้านความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้

ทริสเรทติ้งประเมินการจัดการความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับเพียงพอ สะท้อนความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากผลของโรคโควิด 19 ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าได้ ส่วนในระดับบริษัทย่อย คาดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่อบริษัทราชธานีลิสซิ่ง น่าจะอยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากสัดส่วนของกลุ่มลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของบริษัทราชธานีลิสซิ่งอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้การใช้เกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อแบบระมัดระวัง และการบริหารความเสี่ยงเชิงรุก ความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต ก็อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ ส่วนบริษัทธนชาตประกันภัย ยังคงใช้กลยุทธ์การเติบโตอย่างระมัดระวังโดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงสูง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทธนชาตประกันภัย อยู่ที่ 1,162% ซึ่งสูงกว่าระดับขั้นต่ำตามกฎข้อบังคับที่ 140%

สถานะด้านเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ที่ระดับเพียงพอ

สถานะด้านเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า การประเมินของทริสเรทติ้งคำนึงถึงค่าเฉลี่ย 2 ปีของอัตราส่วน Stable Funding Ratio (SFR) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ 109.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ความต้องการเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (Stable Funding Needs) ของบริษัทประกอบด้วยเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม (59%) เงินกู้ยืมส่วนที่ไม่หมุนเวียน (37%) และทรัพย์สินรอการขาย (4%) ส่วนของผู้ถือหุ้นคิดเป็นประมาณ 70% ของ แหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (Available Stable Funding) ของบริษัท ส่วนที่เหลือประกอบด้วยหุ้นกู้ระยะยาวที่มีอายุครบกำหนดที่กระจายตัว สำหรับบริษัททุนธนชาตเองนั้น บริษัทมีหุ้นกู้คงค้างอยู่ที่ 1.36 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยประมาณ 80% ของหุ้นกู้ทั้งหมด มีอายุครบกำหนดเกิน 1 ปี

โดยสถานะด้านสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในมุมมองของทริสเรทติ้งแหล่งที่มาของสภาพคล่องของบริษัท สามารถรองรับภาระหนี้ผูกพันระยะสั้น ทริสเรทติ้งคาดการณ์ค่าเฉลี่ย 2 ปีของอัตราส่วน Liquidity Coverage Measure (LCM) ของบริษัทอยู่ที่ 1.14 เท่า ส่วนบริษัททุนธนชาตมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 2.9 พันล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 แหล่งที่มาของสภาพคล่องของบริษัท ประกอบด้วยสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร 5.1 พันล้านบาท และสินทรัพย์ทางการเงิน 2.5 พันล้านบาท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งส่วนหนึ่งมาจากบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปีการเงิน 2563 จนถึงปีการเงิน 2565

รายได้รวม (ไม่รวมรายการพิเศษ) จะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ประมาณ 8-10% ต่อปี

ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องคิดเป็นประมาณ 30% ของรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมด

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวม อยู่ในช่วงระหว่าง 32-34%

หุ้นกู้คงค้างของบริษัททุนธนชาต อยู่ที่ประมาณ 1.1-1.3 หมื่นล้านบาท

 

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับภาระหนี้สินทางการเงินในระดับต่ำ การบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวด และแหล่งที่มาของรายได้ที่กระจายตัว รวมถึงมีสถานะด้านเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

 

 

 

Back to top button