PTG คาดรายได้ “ปาล์มคอมเพล็กซ์” ปีนี้ 6 พันลบ. เล็งดัน PPPGC เข้าตลาดปี65 ระดมทุนขยายเฟส2

PTG คาดรายได้ “ปาล์มคอมเพล็กซ์” ปีนี้ 6 พันลบ. เล็งดัน PPPGC เข้าตลาดปี65 ระดมทุนขยายเฟส2


นายชัยทัศน์ วันชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ PPPGC ผู้ผู้ดำเนินโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ ซึ่งบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ถือหุ้นในสัดส่วน 40% เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า คาดปีนี้บริษัทจะมีรายได้อยู่ที่ 5,000-6,000 ล้านบาท จากโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์  ที่สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิต ตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ค.2563 ที่ผ่านมา

รวมถึงปัจจัยบวกจากนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันดีเซลหลักของประเทศ ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (B100) ในประเทศเติบโตสูงขึ้น

ทั้งนี้บริษัทมีรายได้มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก คือไบโอดีเซล (B100) มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 77% น้ำมันโอเลอิน สัดส่วนอยู่ที่ 13% ส่วนที่เหลือจะมาจากกลีเซอรีนบริสุทธิ์และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีก 10%

สำหรับโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ นั้นมีสายการผลิตอย่างครบวงจร ประกอบด้วย โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ สามารถรองรับผลปาล์มของเกษตรกรได้ถึง 1,800 ตันต่อวัน ขณะที่ในช่วงไฮซีซั่น ามารถรองรับได้ถึง 2,000 ตันต่อวัน, โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ กำลังผลิต 600 ตันต่อวัน และโรงผลิตน้ำมันโอเลอิน กำลังการผลิต 150 ตันต่อวัน โดยผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค จำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าแบ่งบรรจุขายตามตลาด (Repacker) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมบริโภค

รวมถึงโรงกลั่นน้ำมันไบโอดีเซล (B100) กำลังผลิต 500,000 ลิตรต่อวัน จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมทั่วประเทศ อาทิ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC, บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO เป็นต้น, โรงสกัดกลีเซอรีนบริสุทธิ์ กำลังผลิต 45 ตันต่อวัน จะจำหน่ายให้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอางค์ เป็นต้น

อีกทั้งยังมีโรงงานไฟฟ้าและไอน้ำ โดยการนำทะลายปาล์ม และน้ำเสียในกระบวนการผลิต มาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 7 เมกะวัตต์ เพื่อนำมาใช้ภายในโครงการ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทลดลง และคลังจัดเก็บวัตถุดิบและสินค้าที่สามารถรองรับสต๊อกได้ถึง 100,000 ตัน

“ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล (B100) จะเป็นกลุ่มโรงกลั่น โดยเกือบทุกบริษัทในประเทศ อาทิเช่น Thai oil และ IRPC เป็นต้น ขณะที่น้ำมันโอเลอิน ตลาดหลัก ๆ คือกลุ่มลูกค้าแบ่งบรรจุขายตามตลาด (Repacker) 70% และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม มีสัดส่วนอยู่ที่ 30% ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมมากขึ้นอีก 10% และมีแผนที่จะสร้างแบรนด์เองในกลุ่มผลิตภัณฑ์         ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ ส่วนกลีเซอรีนบริสุทธิ์ อยู่ที่ 45 ตันต่อวัน ปัจจุบันเน้นตลาดส่งออก 100%” นายชัยทัศน์ กล่าว

นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ช่วงต้นปี 2565

โดยมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการพัฒนาโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์เฟส 2 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 800 – 1,000 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี ซึ่งหากเฟส 2 ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะส่งผลให้มีกำลังผลิตไบโอดีเซล (B100) เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

Back to top button