BAM วางงบหมื่นล้านซื้อหนี้เข้าพอร์ตเพิ่ม ดันรายได้ปีนี้แตะ 1.7 หมื่นลบ.

BAM วางงบหมื่นล้านซื้อหนี้เข้าพอร์ตเพิ่ม ดันรายได้ปีนี้แตะ 1.7 หมื่นลบ.


นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า บริษัทวางงบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาทสำหรับซื้อหนี้ทั้ง NPA และ NPL เข้ามาบริหารเพิ่มอีกคิดเป็นมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่ซื้อหนี้เข้ามาบริหารมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทมองแนวโน้มของตลาดหลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องมา จะยังมีโอกาสที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น และทางสถาบันการเงินต่างๆ ยังคงต้องขายหนี้เสียออกมาเพื่อควบคุมไม่ให้ NPL เพิ่มขึ้นมากจนเกินไป จึงมองว่าเป็นโอกาสของบริษัทในการเข้าซื้อหนี้เข้ามาและเกิดความคุ้มค่าในการนำมาบริหารค่อนข้างมาก

ส่วนรายได้ในปี 64 บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่คาดว่าจะมีรายได้ราว 1.3 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้จะปรับกลยุทธ์การขาย NPA ให้สามารถขายได้รวดเร็วและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น ด้วยการลดกระบวนการและขั้นตอนในการขายทรัพย์ NPA เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อและโอนได้เร็วขึ้น

พร้อมกันนั้น บริษัทยังคงรุกตลาดขาย NPA ในช่องทางออนไลน์ต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป๊นช่องทางที่ทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น และเป็นการเพิ่มช่องทางการขายที่มีการตอบรับที่ดี โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรรายอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางการขายทางออนไลน์ให้กับบริษัทด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 1/64 บริษัทจะมีการคัดเลือกหนี้ที่เป็น NPL มีหลักประกันออกมาขายล็อตที่ 2 ซึ่งในปีนี้บริษัทมองว่าจะเร่งการระบายหนี้ NPL ที่บริษัทบริหารอยู่และเป็นกลุ่ม NPL ที่มีการบริหารจัดการค่อนข้างยาก และใช้ระยะเวลานานในการตามเก็บหนี้ นำออกมาขายให้เร็วขึ้น ทำให้บริษัทสามารถไปทุ่มเทในการบริหารงานติดตามหนี้ NPL ที่ติดตามไปเรียกเก็บเงินได้ง่ายกว่า และทุ่มเทกับการทำงานในด้านอื่นๆได้มากขึ้นด้วย

สำหรับแผนการต่อยอดธุรกิจของบริษัทยังคงมีการมองหาและพูดคุยกับพันธมิตรรายอื่นๆต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับบร้ษัทในระยะยาว และกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ รวมถึงสร้างรายได้ใหม่ๆเข้ามาให้กับบริษัทได้อีกทาง โดยมีธุรกิจที่บริษัทสนใจจะต่อยอดไป เช่น ธุรกิจประเมินราคาทรัพย์สิน การร่วมทุนกับผู้ประกอบการอื่นๆในการเข้ามาบริหารสินทรัพย์ที่เป็นลักษณะโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างรายได้ประจำ งานที่ปรึกษาด้านการเงินและที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงการมองโอกาสบริหารสินทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นแผนงานที่บริษัทวางไว้เพื่อต่อยอดธุรกิจในช่วง 5 ปี (ปี 64-68)

 

 

Back to top button