สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ก.พ. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ก.พ. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้นแอมะซอนดอทคอมที่ทะยานขึ้นกว่า 4% ก่อนที่บริษัทจะเปิดเผยผลประกอบการในวันนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ที่ดีดตัวขึ้นหลังจากราคาโลหะเงินพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี อันเนื่องมาจากคำสั่งซื้อของนักลงทุนรายย่อย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,211.91 จุด เพิ่มขึ้น 229.29 จุด หรือ + 0.76% ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,773.86 จุด เพิ่มขึ้น 59.62 จุด หรือ +1.61% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,403.39 จุด เพิ่มขึ้น 332.70 จุด หรือ +2.55%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) โดยฟื้นตัวขึ้นหลังจากร่วงลงในสัปดาห์ที่ผ่านมารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2563 และได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ หลังนักลงทุนรายย่อยแห่ซื้อโลหะเงิน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 400.77 จุด เพิ่มขึ้น 4.92 จุด หรือ +1.24%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,461.68 จุด, เพิ่มขึ้น 62.47 จุด หรือ +1.16%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,622.02 จุด เพิ่มขึ้น 189.15 จุด หรือ +1.41% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,466.42 จุด เพิ่มขึ้น 58.96 จุด หรือ +0.92%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ที่ปรับตัวขึ้น หลังนักลงทุนรายย่อยแห่ซื้อโลหะเงินซึ่งดันราคาขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,466.42 จุด เพิ่มขึ้น 58.96 จุด หรือ +0.92%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า พายุหิมะทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐจะทำให้ความต้องการใช้พลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้ปัจจัยบวกจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 1.35 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 53.55 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.31 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 56.35 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) โดยสัญญาทองคำดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1,860 ดอลลาร์ เพราะได้แรงหนุนจากราคาสัญญาโลหะเงินที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี อันเนื่องมาจากคำสั่งซื้อของนักลงทุนรายย่อย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 13.6 ดอลลาร์ หรือ 0.74% ปิดที่ 1,863.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 2.504 ดอลลาร์ หรือ 9.3% ปิดที่ 29.418 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.2556

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 59.6 ดอลลาร์ หรือ 5.52% ปิดที่ 1,138.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 33.30 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 2,241.70 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากมุมมองที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัว และสหรัฐมีความสามารถที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนได้ตามเป้า ขณะที่สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังจากเยอรมนีเปิดเผยยอดค้าปลีกทรุดตัวลงในเดือนธ.ค.

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.45% แตะที่ระดับ 90.9871

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2065 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2132 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3670 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3703 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7640 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7641 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.94 เยน จากระดับ 104.73 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8968 ฟรังก์ จากระดับ 0.8905 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2843 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2802 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button