หุ้นรับอานิสงส์ “บาทอ่อนค่า”

เงินบาทระยะสั้นอ่อนค่าจากแนวโน้มของดอลลาร์โดยการซื้อขายหลักเกิดจากนักเก็งกำไรต่างชาติและกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่น ส่วนนักค้าเงินไทยกลับมาจับตาการจ่ายปันผลของบจ.


เส้นทางนักลงทุน

วานนี้ 2 เม.ย.2564 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงวันก่อนที่ 31.21 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าจากช่วงสิ้นเดือนก.พ.2564 ที่ 30.46 บาทต่อดอลลาร์ โดยในรอบ 1 เดือนเงินบาทอ่อนค่าลง 2.56% และที่สำคัญได้กลับมาเห็นค่าเงินอ่อนค่ากว่าระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้งในรอบ 5 เดือน

โดยด้านเงินบาทระยะสั้นทยอยอ่อนค่าลงจากแนวโน้มของเงินดอลลาร์โดยการซื้อขายหลักเกิดจากนักเก็งกำไรต่างชาติและกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่น ส่วนนักค้าเงินไทยกลับมาจับตาการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกเพิ่มเติม

ประเด็นทั้งหมดทำให้แรงขายเงินดอลลาร์จากผู้ส่งออกชะลอตัวลงเพื่อรอดูสถานการณ์ เงินบาทจึงมีโอกาสอ่อนค่าได้ต่อ ส่วนในระยะถัดไป มองว่าทิศทางของตลาดหุ้นเอเชียเป็นประเด็นที่ต้องจับตามากที่สุด มองว่าเงินบาทจะหยุดอ่อนค่าก็ต่อเมื่อตลาดกลับมาเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฝั่งเอเชียและมีเงินทุนไหลเข้าอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้น เงินบาทยังคงผันผวนไปตามเงินดอลลาร์ ระหว่างวันยังสามารถอ่อนค่าลงได้ จากแรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศของบริษัทต่างชาติญี่ปุ่นที่อาจทยอยเข้ามาซื้อเงินเยน ในช่วงปิดปีงบประมาณของบริษัทญี่ปุ่นนอกจากนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจขายทำกำไรหุ้นไทย ตามการปรับพอร์ตการลงทุนในช่วงสิ้นไตรมาส

อย่างไรก็ดีมองว่าเงินบาทอาจไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับใกล้ 31.15-31.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้นำเข้าก็รอซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน ที่ระดับใกล้ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทยังมีโอกาสทรงตัวเหนือระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงนี้

ดังนั้นเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่า เบื้องต้นสำหรับหุ้น/อุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก “ค่าเงินบาทอ่อนค่า”

1) กลุ่มอิเลกทรอนิกส์ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก การอ่อนค่าของเงินบาททุกๆ 1 บาท จะมีผลทำให้กำไรของ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เพิ่มขึ้นราว 6% และบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA เพิ่มขึ้นราว 5%

2) กลุ่มอาหาร เนื่องจากมีรายได้จากการส่งออก  โดยการอ่อนค่าของเงินบาททุกๆ 1 บาท จะมีผลต่อการทำกำไรกำไรของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เพิ่มขึ้นราว 5%, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เพิ่มขึ้นราว 5%, , บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT เพิ่มขึ้นราว 2% และ บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO เพิ่มขึ้นราว 8%

3) อุตสาหกรรมอื่น ที่ได้รับเชิงบวกจากค่าเงินบาทอ่อน เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก การอ่อนค่าของเงินบาททุกๆ 1 บาท จะมีผลทำให้กำไรของ บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA เพิ่มขึ้นราว 8%, บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG เพิ่มขึ้นราว 4%, บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGTเพิ่มขึ้นราว 2% และบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA เพิ่มขึ้นราว 6%

นอกเหนือจากจะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าในระยะสั้นแล้ว เมื่อดูจากราคาเป้าหมายของแต่ละบริษัทยังสามารถเข้าไปเก็งกำไรได้อยู่เพราะยังมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ให้ไว้ก่อนหน้า

สำหรับ KCE ทางบล.เคทีบีเอสที ให้ราคาเป้าหมาย 70.00 บาท , HANA ทางบล.เมย์แบงก์ กมเอ็ง ให้ราคาเป้าหมาย 68 บาท,

TU ทางบล.ฟิลลิป ราคาเป้าหมาย 19.50 บาท, CPF ทางบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ล ให้ราคาเป้าหมาย 43 บาท , GFPT ทางบล.ทิสโก้ ให้ราคาเป้าหมาย 14.30 บาท, XO ทาง บล.เคทีบีเอสที ให้ราคาเป้าหมาย 16 บาท

 SMPC ทางบล.ทิสโก้ ให้ราคาเป้าหมาย 12.50 บาท, MEGA ทางบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ล ให้ราคาเป้าหมาย 47.00 บาท, EPG ทางบล.เคทีบีเอสที ให้ราคาเป้าหมาย 12.00 บาท, STGT ทางบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ล ให้ราคาเป้าหมาย 55บาท, STA ทางบล.เคทีบีเอสที ให้ราคาเป้าหมาย 65.00 บาท

ท้ายสุดหุ้นข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างของหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าในระยะสั้น!!!

Back to top button