‘เบียร์ช้าง’ ติดหล่มโควิด.!

ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited) ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เม.ย.2564 ที่ผ่านมาว่า ไทยเบฟฯ ตัดสินใจเลื่อนแผนการแยกธุรกิจเบียร์และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นสิงคโปร์ ออกไปก่อน อันเนื่องจากภาวะผันผวนของตลาดหุ้น อันเกิดมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited) ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เม.ย.2564 ที่ผ่านมาว่า ไทยเบฟฯ ตัดสินใจเลื่อนแผนการแยกธุรกิจเบียร์และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นสิงคโปร์ ออกไปก่อน อันเนื่องจากภาวะผันผวนของตลาดหุ้น อันเกิดมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“สถานการณ์ที่ยากลำบากอันเนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและประเทศ อื่น ๆ ทำให้ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมกับการแยกธุรกิจดังกล่าว และบริษัทจะทำการทบทวนเกี่ยวกับการแยกธุรกิจ และการนำธุรกิจดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป โดยบริษัทยังจับตาสถานการณ์ในตลาดเพื่อแสวงหาโอกาสที่เหมาะสม”

จากเดิมไทยเบฟฯ มีแผนแยกธุรกิจเบียร์ออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ BeerCo Group เพื่อนำบริษัทเบียร์ที่ว่านี้ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยเอกสารรายละเอียด 127 หน้า เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ระบุว่า จะนำ BeerCo (บริษัทโฮลดิ้งที่ดูแลธุรกิจเบียร์ทั้งหมด) ที่ไทยเบฟฯ ถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท International Beverage Holdings เข้าซื้อขายในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ด้วยการนำหุ้น 20% เสนอขายต่อนักลงทุนต่อไป

โดยธุรกิจกลุ่ม BeerCo มีการผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ อาทิ ช้าง, อาชา, เฟเดอร์บรอย ทั้งในไทยและเวียดนาม รวมถึงผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ “ไซ่ง่อน” และ 333” ในเวียดนาม ภายใต้บริษัท ไซง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบเวอเรจ (ซาเบโค) โดยไม่รวมการขายเบียร์ในประเทศอื่น ๆ

ผลประกอบการปี 2563 (1 ต.ค.2562-30 ก.ย.2563) พบว่ารายได้กลุ่ม BeerCo อยู่ที่ประมาณ 4.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 105,000 ล้านบาท) กำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ 348 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 7,820 ล้านบาท)

ช่วงปลายเดือน ม.ค.2564 ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ไทยเบฟฯ ต้องการระดมทุนมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2,676 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ที่ถือว่าทำสถิติระดมทุนผ่านไอพีโอสูงสุดรอบ 10 ปีของตลาดหุ้นสิงคโปร์โดยเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุน มีแผนนำไปชำระหนี้สินที่มีภาระผูกพันดอกเบี้ย (interest-bearing debt) ทั้งหมดเพื่อให้สถานะทางการเงินไทยเบฟฯ มีความมั่นคงมากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนขยายธุรกิจมากขึ้น

การนำ BeerCo ถือเป็นหนึ่งของการก้าวสู่ยุทธศาสตร์ Passion 2025 ภายใต้การขับเคลื่อนของ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ทายาทลำดับที่ 3 ของเจ้าพ่อน้ำเมา “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ด้วยเป้าหมายการนำธุรกิจเครื่องดื่มของไทย เข้าสู่สมรภูมิระดับธุรกิจอาเซียนและระดับโลกนั่นเอง

การประกาศเลื่อนเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ครั้งนี้ ทำให้ไทยเบฟฯ เสียโอกาสไม่น้อย โดยเฉพาะเป้าหมายที่ต้องการปรับปรุง “ฐานะทางการเงิน” บริษัทให้แข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ มีแผนนำไปชำระหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำลงทันที

อีกนัยหนึ่ง นั่นคือการ “ปลดล็อกมูลค่าผู้ถือหุ้น” (Unlocking Shareholder Value) เพราะการแยกธุรกิจเบียร์และดันเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ภายใต้ BeerCo ช่วยการันตีเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส จนกลายเป็นที่จับตาของนักลงทุนและเกิดการประเมินมูลค่าที่ชัดเจนมากขึ้น

แต่เชื่อว่า “ช้างติดล่ม” ครั้งนี้..ไม่น่าทำให้ไทยเบฟฯ เสียหายมากนัก…เพียงแค่ “เสียโอกาส” เท่านั้นเอง..!!

Back to top button