ขี่คอพรรคร่วมจนยุบ

กองเชียร์แซ่ซ้อง ประยุทธ์เคารพกฎหมาย ไม่ใส่แมสก์ในที่ประชุม เรียกผู้ว่า กทม.ไปปรับ 6,000 บาท โธ่เอ๋ย ถ้าไม่โดนชาวเน็ตจับได้ รุมถล่มไม่เป็นแบบอย่าง ไหนว่า “การ์ดอย่าตก ๆ” จะรีบกลับลำอย่างนี้ไหม


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

กองเชียร์แซ่ซ้อง ประยุทธ์เคารพกฎหมาย ไม่ใส่แมสก์ในที่ประชุม เรียกผู้ว่า กทม.ไปปรับ 6,000 บาท โธ่เอ๋ย ถ้าไม่โดนชาวเน็ตจับได้ รุมถล่มไม่เป็นแบบอย่าง ไหนว่า “การ์ดอย่าตก ๆ” จะรีบกลับลำอย่างนี้ไหม

คนที่ใช้ปืนใช้รถถังฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างกติกาให้ 250 ส.ว.โหวตตัวเองเป็นนายกฯ มีหรือเคารพกฎหมาย

ประยุทธ์กลายเป็นเยี่ยงอย่าง ให้ตำรวจ กทม. เอามาอ้าง “กฎหมายศักดิ์สิทธิ์” ทั้งที่ข้อบังคับใส่หน้ากาก ยังเป็นที่ถกเถียงว่าเกินจำเป็นหรือไม่ ถูกละ ประชาชนควรใส่หน้ากาก แต่ก็เฉพาะพื้นที่ไม่ปลอดภัย ห้างร้านตลาดคนแออัด ฯลฯ คนต่างจังหวัดเดินกลางทุ่ง คนกรุงขับรถไปกับลูกเมีย ต้องโดนจับปรับด้วยหรือ

การใช้อำนาจบังคับประชาชน เป็นวิธีกอบกู้ความล้มเหลวของรัฐ โควิดลดจากประชาชนร่วมมือกันระมัดระวัง แต่รัฐจะบอกว่าเป็นผลงานตำรวจผู้ว่าฯ บังคับ

การใช้อำนาจเป็นเรื่องที่ประยุทธ์ถนัด โชว์พาวเด็ดขาดขึงขัง แต่ไม่มีความสามารถในการบริหารสถานการณ์วิกฤต การมีมติ ครม. โอนอำนาจให้ประยุทธ์เป็นการชั่วคราวใน 31 พ.ร.บ. เพื่อแก้วิกฤตโควิด จึงเป็นเรื่องตลก เพราะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้ง ศบค. ก็มอบอำนาจเด็ดขาดให้ประยุทธ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว

เป็นอย่างที่อนุทิน ซึ่งกลายเป็นตำบลกระสุนตก โดน “หมอไม่ทน” ล่าชื่อไล่ (ทะลุ 2 แสนไปแล้ว) โวยว่าตัวเองทำตามคำสั่งนายกฯ หัวหน้า ศบค. ซึ่งบริหารแบบ single command กระทรวงสาธารณสุขเสนออะไร ศบค.ไม่เห็นด้วยก็ต้องกลับมาแก้ไข

พูดง่าย ๆ อย่าโทษ สธ. อย่าโยนขี้ให้อนุทิน ซึ่งชักจะไม่พอใจ ไล่หนูทำไมต้องไล่ตู่สิ (แม้ไม่กล้าพูดตรง ๆ)

ศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ก็เอาบทความไปแชร์ Quote ถ้อยคำวิพากษ์ประยุทธ์ ถนัดแต่ใช้อำนาจพิเศษ “มองโรคระบาดเป็นภัยความมั่นคง เป็นอริราชศัตรู” จนโดนสิระ แรมโบ้ รุมถล่ม

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็แสดงความไม่พอใจ ต่อการมอบหมายรัฐมนตรีรับผิดชอบพื้นที่จังหวัด ตั้งธรรมนัสไปทะลวงก้นแมลงสาบที่ภาคใต้

โฆษก ปชป. ประปากกับรองโฆษก พปชร. แต่ประยุทธ์ไม่สนใจ พูดเท่ ๆ ว่าวันนี้เป็นเวลาทำงาน ไม่ใช่เวลาการเมือง ปชป.ก็เงียบไป

เห็นชัดว่ารัฐบาลร้าวฉาน แต่ 2 พรรคใหญ่ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ กล้าถอนตัวหรือไม่ คำตอบคือไม่มีทาง

ประการแรก อำนาจหนุนหลังประยุทธ์นั้นใหญ่โต ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ไม่กล้าหือ

ประการที่สอง ถอนตัวไปก็ไม่สามารถจับมือฝ่ายค้านตั้งรัฐบาล ไม่ผ่านด่าน 250 ส.ว. ยิ่งกว่านั้นจะกลายเป็นหัวเน่า เพราะการเมืองแรงตลอดสองปี สั่งสมความเกลียดชัง (ยกตัวอย่าง ภูมิใจไทย ก้าวไกล ยากจะอยู่ร่วมโลกเพราะดูด ส.ส.อนาคตใหม่)

ประการที่สาม มองไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือถ้ามียุบสภาเลือกตั้งใหม่ การคงสถานะพรรคร่วมรัฐบาลยังไง ๆ ก็เป็นประโยชน์ต่อการหาเสียงมากกว่า ถึงแม้ในขณะเดียวกันก็จะถูกพลังประชารัฐทะลวงไส้

แนวโน้มของรัฐบาลประยุทธ์ จึงไม่ใช่ ภท. ปชป. ถอนตัวจนรัฐบาลล่ม แต่กลายเป็นประยุทธ์กับ พปชร. ขี่คอไล่ขย่ม โดย 2 พรรคกลืนไม่เข้าคายไม่ออก พอถึงจุดหนึ่งก็ยุบสภา โดย 2 พรรคอยู่ในฐานะลำบาก เพราะ พปชร.จะกวาดฐานเสียง โดยเฉพาะประชาธิปัตย์

จังหวะเหมาะอาจเป็นสิ้นปีนี้ต้นปีหน้า หลังฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงตอนนั้น 2 พรรคจะกระอัก เพราะคนไม่เอาประยุทธ์ก็เลือกพรรคฝ่ายค้าน คนเอารัฐบาลก็เลือกพลังประชารัฐ บวกความได้เปรียบจากกลไกอำนาจ ภูมิใจไทยอาจรอดด้วยระบบอุปถัมภ์ ส.ส. “บ้านใหญ่” แต่ประชาธิปัตย์ภาคใต้เสี่ยงสูญพันธุ์

ประยุทธ์ก็จะขึงพืดประชาธิปัตย์ โยนความล้มเหลวให้อนุทิน แล้วลอยนวลไปอย่างนี้ เพียงมีอุปสรรคอย่างเดียวคือ ความโกรธของประชาชนที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงหลังโควิด-19 รอบสาม อาจปะทุเป็นพลังนอกสภายิ่งกว่าปีที่แล้ว

Back to top button