บลจ.กรุงศรี ตั้งเป้า AUM ปีนี้ 3.73 แสนลบ.แนะจัดพอร์ตกระจายสินทรัพย์ที่หลากหลาย

บลจ.กรุงศรี ตั้งเป้า AUM ปีนี้ 3.73 แสนลบ. แนะจัดพอร์ตกระจายสินทรัพย์ที่หลากหลาย


นางสาวศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 59 นั้น บริษัทตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) 373,000 ล้านบาท และขยายฐานลูกค้าเพิ่ม 14% โดยใช้กลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าผ่านเครือข่ายธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ที่มีมากกว่า 630 สาขา และธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด (BTMU) ที่มีความแข็งแกร่งในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น เน้นมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีแนวโน้มดีเหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อเพิ่มทางเลือกในพอร์ตการลงทุนของลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาว

ขณะที่การบริหารกองทุนยังคงรักษามาตรฐานของกระบวนการลงทุน ตลอดจนการสร้างความเข้าใจกับผู้ลงทุนเรื่องการวางแผนการลงทุนระยะยาวให้เหมาะสมกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่มุ่งหวังการเก็งกำไรให้ได้ผลตอบแทนสูงแค่ระยะสั้นๆ

สำหรับสัดส่วนการลงทุนปีนี้นี้ บริษัทยังคงเน้นการลงทุนในหุ้นมากขึ้น โดยเฉลี่ยประมาณ 63% ของพอร์ต และในส่วนอีก 37% เป็นตราสารหนี้ ซึ่งในส่วนของพอร์ตหุ้นนั้น บริษัทมีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสูงถึง 30% โดยมองว่ายังมีความน่าสนใจที่จะลงทุนในระยะยาวอยู่และคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอเช่นกัน ถึงแม้ว่าในระยะสั้นยังมีความผันผวนอยู่บ้างตาม

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 58 มีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร  มูลค่า 3.2 แสนล้านบาท เติบโต 15% จากสื้นปี 57 ซึ่งนับเป็นการเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมที่เติบโต 8% โดยในส่วนของกองทุนรวมภายใต้การบริหารมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 20% เป็นการขยายตัวมากกว่าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเพียง 6.7% และมีส่วนแบ่งการตลาดของกองทุนรวมเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่อันดับที่ 5 จากอันดับ 6 ในปีก่อนหน้า รวมทั้งมีจำนวนลูกค้าเพิ่มสูงขึ้น 20%

ด้านนางสุภาพร ลีนะบรรจง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ. กรุงศรี คาดว่าดัชนีหุ้นไทยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1,425 จุด บนพื้นฐานที่คาดกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) จะเติบโตได้ราว 10% ซึ่ง บจ. ของไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีการขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังได้รับปัจจัยหนุนในประเทศคือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะออกมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายที่สูงมากขึ้น ส่งผลให้ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องจับตาเป็นสำคัญคือปัญหาภัยแล้ง หากเกิดขึ้นจะส่งผลต่อเกษตรกรซึ่งอาจมีผลต่อการเติบโตของภาพรวมเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งรวมที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)เช่นกัน

“ก่อนหน้านี้เราเคยคาดการดัชนีปีนี้อยู่ที่ 1,432 จุด แต่ปรับลงมาเหลือ 1,425 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ต่างกันมากนัก แต่อย่างไรก็ตามหากผลประกอบการไตรมาส 4/58 ของ บจ. ออกมาแล้ว เราก็อาจจะมีการปรับประมาณการตัวเลขดัชนีตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง”นางสุภาพร กล่าว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ระดับ 1.50% มองว่าเป็นระดับที่มีความเหมาะสม และถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค โดยเชื่อว่าจะคงอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ต่อไป เพื่อที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะยังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาวยังคงมีความผันผวนสูง ตามการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั่วโลก เนื่องจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท และกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกของนักลงทุนต่างชาติ

ด้านการลงทุนจากต่างชาติเริ่มมีสัญญานกลับเข้ามาซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปัจจุบัน จากก่อนหน้านี้มีแรงเทขายออกไปจำนวนมากเนื่องจากมองว่าตลาดหุ้นไทยมีความแข็งแกร่งสวนตลาดหุ้นภูมิภาคและตลาดหุ้นทั่วโลก จึงทำให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามา แม้สัดส่วนอาจจะยังไม่มากนัก แต่หากเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ และผลประกอบการของบจ.ในประเทศยังมีแนวโน้มที่เติบโต รวมไปถึงมีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เม็ดเงินเหล่านี้ก็ยังสามารถไหลกลับเข้ามาได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 3.2% โดยมีแรงหนุนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะหนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะหนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 59 ขยายตัวได้ดี

“ตั้งแต่นี้ต่อไปเม็ดเงินต่างชาติจะไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าตลาดหุ้นไทย ค่อนข้าง Outperform กว่าตลาดอื่นๆ โดยตลาดหุ้นทั่วโลกดัชนีลดลงไปเฉลี่ย 10% แต่ตลาดหุ้นไทยยังทรงตัวได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของ บจ.และสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้น “นางสุภาพร กล่าว

Back to top button