“สาธิต” ชง 4 มาตรการลดผู้ป่วยโควิด คาด 2 สัปดาห์บรรเทาวิกฤตดีขึ้น

“สาธิต” ชง 4 มาตรการ ลดผู้ป่วยโควิด-เพิ่มเตียง เชื่ออย่างน้อย 2 สัปดาห์บรรเทาวิกฤตดีขึ้น เล็งนำแพทย์ประจำบ้านใช้ทุนช่วยปฏิบัติหน้าที่ไอซียูสนามที่จะเปิดเพิ่ม


นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือ รมช.สธ. เปิดเผยว่า ได้เสนอ 4 มาตรการช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนเตียงรักษา เล็งนำแพทย์ประจำบ้านใช้ทุนช่วยปฏิบัติหน้าที่ไอซียูสนามที่จะเปิดเพิ่มใน 7 วัน ส่วนมาตรการ Home Isolation ให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียวรักษาที่บ้านให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ศบค.กทม. และกระทรวงสาธารณสุข พร้อมมีมาตรการติดตามอาการไว้แล้ว

โดยมาตรการดังกล่าวต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ 1. รัฐบาลต้องสื่อสารกับประชาชนช่วยกันคุมเข้มป้องกันโรค 2. กลับมาใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยเฉพาะการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว 3. เร่งฉีดวัคซีนใน 2 กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการระบาดมาก ซึ่งมีการลงทะเบียนฉีดในเดือนกรกฎาคม 2564 ประมาณ 5 แสนคน ให้ครบโดยเร็วที่สุด ตามศักยภาพ รวมถึงใช้ยุทธศาสตร์ขนมครกควบคุมโรคในจุดคลัสเตอร์และชุมชนโดยรอบ และ 4. เปิดเตียงไอซียูสนามเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการเปิดในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนและโรงเรียนแพทย์ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และวชิรพยาบาล ประมาณ 50 เตียง ภายใน 7 วัน

“หากดำเนินทั้ง 4 มาตรการไปพร้อมๆ กันอย่างน้อย 2 สัปดาห์จะช่วยให้ผู้ป่วยเริ่มลดลง ส่งผลให้ปลายทางคือด้านการรักษาผู้ป่วย ภาระงานของแพทย์และพยาบาลดีขึ้นตามลำดับ และจะเสนอมาตรการใหม่ คือ Home Isolation ให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียวรักษาที่บ้าน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขวางระบบการติดตามอาการไว้แล้ว ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินของ ศบค.กทม. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ” นายสาธิต กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เตียงผู้ป่วยโควิด-19 ในสถานพยาบาลภาครัฐมีความตึงตัวทั้งเตียงสีแดง สีเหลือง และสีเขียว รวมถึง Hospitel และโรงพยาบาลสนามภาครัฐ โดยเฉพาะเตียงไอซียูตึงตัวมากกว่าสัปดาห์ที่แล้ว ในส่วนของการเปิดไอซียูสนามเพิ่ม 50 เตียง แต่ยังไม่มีบุคลากรได้ทำหนังสือต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอนำแพทย์ประจำบ้านที่เรียนจบจะกลับไปใช้ทุน วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 มาช่วยปฏิบัติงานไอซียูสนามก่อน

อย่างไรก็ตามทางส่วนของพยาบาลไอซียูจะระดมจากจังหวัดที่ระบาดไม่มาก สำหรับปัญหาแรงงานต่างด้าวจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงานว่าควรต้องนิรโทษกรรม รักษาแล้วให้มีการขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายระบุตัวตนได้ต่อไป

Back to top button