สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 ส.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 ส.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (19 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stocks) ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา อย่างไรก็ดีดัชนี Nasdaq และ S&P500 ปิดในแดนบวก โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,894.12 จุด ลดลง 66.57 จุด หรือ -0.19% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,405.80 จุด เพิ่มขึ้น 5.53 จุด หรือ +0.13% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,541.79 จุด เพิ่มขึ้น 15.87 จุด หรือ +0.11%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (19 ส.ค.) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรายวันรุนแรงที่สุดในรอบ 1 เดือน เนื่องจากการร่วงลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถ่วงหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 467.24 จุด ลดลง 7.18 จุด หรือ -1.51%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,605.89 จุด ลดลง 164.22 จุด หรือ -2.43%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,765.81 จุด ลดลง 200.16 จุด หรือ -1.25% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,058.86 จุด ลดลง 110.46 จุดหรือ -1.54%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (19 ส.ค.) แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มพลังงาน ซึ่งปรับตัวลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์และการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ท่ามกลางความวิตกว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,058.86 จุด ลดลง 110.46 จุด หรือ -1.54%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อคืนนี้ (19 ส.ค.) โดยสัญญาน้ำมันดิบปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังสร้างแรงกดดันตลาดน้ำมันด้วย

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 1.77 ดอลลาร์ หรือ 2.70% ปิดที่ 63.69 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีนี้

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 1.78 ดอลลาร์ หรือ 2.60% ปิดที่ 66.45 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีนี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (19 ส.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้

ทั้งนี้สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.30 ดอลลาร์ หรือ 0.07% ปิดที่ 1,783.10 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 19.20 เซนต์ หรือ 0.82% ปิดที่ 23.23 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 25.20 ดอลลาร์ หรือ 2.53% ปิดที่ 971.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 125.40 ดอลลาร์ หรือ 5.20% ปิดที่ 2,297.90 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (19 ส.ค.) ขานรับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้ นอกจากนี้นักลงทุนยังเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.45% แตะที่ 93.5632 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9185 ฟรังก์ จากระดับ 0.9166 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2819 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2633 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 109.78 เยน จากระดับ 109.89 เยน

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1676 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1711 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3639 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3761 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7151 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7242 ดอลลาร์

 

Back to top button