คัด 20 หุ้นโรงไฟฟ้าตัวท็อป! โกยกำไร 3 ปีต่อเนื่อง-ลุ้นปี 64 โตไม่หยุด

คัด 20 หุ้นโรงไฟฟ้าตัวท็อป! โกยกำไร 3 ปีต่อเนื่อง-ลุ้นปี 64 โตไม่หยุด นำทีมโดย GPSC, RATCH, GULF, EA, TPIPP, BPP, EGCO, BGRIM, SUPER, SPCG, GUNKUL, BCPG, CKP, ACE, SSP, WHAUP, MDX, ETC, SCG และ EP


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ขอนำเสนอข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หมวดธุรกิจ “พลังงานและสาธารณูปโภค” โดยเน้นหุ้นประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าที่สามารถทำกำไรสุทธิเติบโตสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2561-2563 จนมาถึงงวดครึ่งแรกปี 2564 เป็นต้นมา

โดยเป็นการคัดกรองจากข้อมูลส่วนหนึ่งของทางนายสุเชษฐ์ สุขแท้ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายมีเดียมาร์เก็ตติ้ง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ได้รวบรวมข้อมูลเอาไว้

โดยหุ้นที่สามารถทำกำไรสุทธิตามเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 20 ตัว ได้แก่ GPSC, RATCH, GULF, EA,TPIPP, BPP, EGCO, BGRIM, SUPER, SPCG, GUNKUL, BCPG, CKP, ACE, SSP, WHAUP, MDX, ETC, SCG และ EP ดังตารางประกอ

โดยรายแรก บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3,359.19 ล้านบาท  กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่  4,060.80 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 7,508.13 ล้านบาท

ล่าสุดผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,275.59 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 3,475.86 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี และการรับรู้รายได้บางส่วนจากเงินชดเชยค่าประกันภัยของโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงาน ระยะที่ 5

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/2564 คาดเติบโตจากไตรมาส 2/2564 จากการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า XPCL โดยได้รับปัจจัยบวกจากปริมาณน้ำที่มีจำนวนมาก จากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมา

รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในอินเดีย ขนาด 579 เมกะวัตต์ (ตามสัดส่วนการถือหุ้น GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 41.6%) โดยการรับรู้รายได้เต็มไตรมาสครั้งแรกในไตรมาส 4/2564 และการรับรู้เงินปันผลจากโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ (RPC) ซึ่งจะลดทอนผลกระทบจากธุรกิจโรงไฟฟ้า IPP ที่ลดลงตามฤดูกาล

อีกทั้งการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Avaada) ในอินเดีย จำนวน 13 โครงการ กำลังผลิตรวม 1,392 เมกะวัตต์ (GPSC ถือหุ้น 41.6%) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม (CI Changfang และ CI Xidao) ในไต้หวัน (GPSC ถือหุ้น 25%) จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของผลประกอบการ GPSC ในระยะยาว โดยโครงการ Solar ในอินเดีย ยังมีแผนเพิ่มกำลังผลิตอีก 8 โครงการ กำลังผลิต 2,352 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565

ขณะที่โครงการพลังงานลมในไต้หวันจะทยอยเริ่มผลิตไฟฟ้าปี 2565-2566 กำลังผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ ทั้ง 2 โครงการมีสัญญาการขายไฟฟ้าระยะยาวให้กับหน่วยงานรัฐ (โครงการ Avaada มีสัญญาขายไฟฟ้า 88% ให้กับรัฐบาลอินเดีย ขณะที่โครงการในไต้หวันมีสัญญาขายไฟฟ้า 10-25 ปี) เป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปี 2564 ถึง 2566

รายที่สอง บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ระดับ 5,587.60 ล้านบาท  กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 5,963.28 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 6,286.68 ล้านบาท และล่าสุดผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,210.70 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 2,434.98 ล้านบาท

โดยสาเหตุหลักเนื่องจากรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมค้าและบริษัทร่วมต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิเช่น HPC PNPC SEAN และ ABEIF เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแนวโน้มปีนี้ยังโตสดใสจากแผนลงทุนต่อเนื่อง โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RHIS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม เข้าซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิต 2,045 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย อายุโครงการ 21 ปีตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมมูลค่ารวมทั้งหมดเท่ากับ 809.60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 25,421.68 ล้านบาท ใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเงินทุนหมุนเวียน

อีกทั้งทุ่มงบกว่า 190 ล้านบาท ปิดดีลร่วมทุน BCH ถือหุ้นโรงพยาบาล “เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์” สัดส่วน 9.91% เพิ่มโอกาสร่วมลงทุนธุรกิจด้านสุขภาพและธุรกิจเกี่ยวเนื่องในอนาคต

รายที่สาม บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3,028.13 ล้านบาท กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 4,886.56 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 4,282.11 ล้านบาท และล่าสุดผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,038.69 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตโตเนื่องในปีนี้จากแผนธุรกิจที่โดดเด่น

สำหรับแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2564 GULF ยังมีโครงการที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลที่ประเทศเวียดนาม (Mekong Wind) ระยะที่ 1-3 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 128 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยเปิดดำเนินการระหว่างไตรมาส 3-4 ปีนี้

โครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 2 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 662.5 เมกะวัตต์ ที่กำหนดเปิดดำเนินการในเดือนตุลาคม 2564, โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ประเทศโอมาน (DIPWP) จำนวน 326 เมกะวัตต์ ระยะที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 40 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดดำเนินการระหว่างไตรมาส 3-4 และโครงการ solar rooftop ภายใต้ Gulf1 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 20 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยเปิดดำเนินการภายในสิ้นปี ส่งผลให้ GULF มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 7,922 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2564

นอกจากนี้ยังมีรายได้เงินปันผลจาก บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ตามการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 42.25% นอกจากนี้การลงทุนใน INTUCH จะสนับสนุนกำไรในอนาคต จากความเป็นไปได้ในการเป็น บ.ย่อย ทำให้ฐานทุน GULF ใหญ่ขึ้น ซึ่งเพิ่มศักยภาพในการลงทุนและทำกำไรสูงในอนาคต

รายที่สี่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ระดับ 5,147.54ล้านบาท กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 6,081.62 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 5,204.57 ล้านบาท และล่าสุดผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,602.50 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตโตเนื่องในปีนี้จากแผนธุรกิจที่โดดเด่น

โดยนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA ปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 บริษัทฯพร้อมเดินหน้าโครงการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน Amita Technology (Thailand) โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตสำหรับระยะที่ 1 ได้ในไตรมาสที่ 3/64

สำหรับโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า EA Anywhere ได้ร่วมมือกับบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ผู้ให้บริการสถานีน้ำมันคาลเท็กซ์ ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere ในสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ไปแล้ว 9 แห่ง และมีแผนที่จะเปิดให้บริการภายในสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์สาขาอื่นๆ เพิ่มเติมอีกให้ครบ 20 แห่งภายในปี 2564

ส่วนโครงการเรือโดยสารไฟฟ้า MINE SMART FERRY ได้เริ่มเก็บค่าโดยสารในราคาโปรโมชั่น 20 บาทตลอดสาย และเมื่อวันที่ 17 พ.ค.64 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ขยายจุดจอดเรือรับ-ส่งที่ต้นทางฝั่งเหนือจากท่าเรือนนทบุรีไปยังท่าเรือพระนั่งเกล้า ถึงท่าเรือสาทร ภายในไตรมาสที่ 3/64 จะมีการส่งมอบเรือโดยสารไฟฟ้าครบจำนวน 27 ลำ ตามแผนที่กำหนดไว้

ด้านโครงการรถโดยสารไฟฟ้า ปัจจุบันได้มีการประกอบรถโดยสารไฟฟ้าแล้วเสร็จกว่า 100 คัน โดยจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ในไตรมาส 3/2564 ช่วงเดือนสิงหาคม สำหรับโรงงานผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ทุกประเภทอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา การก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 90% โดยเมื่อโรงงานเสร็จเรียบร้อยจะมีกำลังการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าอยู่ที่ปีละ 3,000 คันต่อปี

“มั่นใจว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจแบตเตอรี่ รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า ซึ่งถือเป็น New S-Curve ผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดตามแผนงานที่วางไว้ พร้อมคงเป้าหมายรายได้ในปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%” นายอมร กล่าว

รายที่ห้า บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3,812.67 ล้านบาท กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 2,968.93 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 3,702.48 ล้านบาท

ล่าสุดผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,159.78 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตโตเนื่องในปี 2564 จากแผนธุรกิจที่โดดเด่น โดยผลการดำเนินงานงวดไตรมาสดังกล่าวมีกำไรเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมค้าของโรงไฟฟ้า HPC ที่เพิ่มขึ้นจากผลการดำเนินงานโดยรวม และจากการอ่อนค่าของเงินสกุลบาทต่อเงินสกุลเหรียญสหรัฐ

ด้านนายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  BPP เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทเตรียมรับรู้กำลังการผลิตใหม่เพิ่มอีกกว่า 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 384 เมกะวัตต์ ปัจจุบันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว พร้อมสร้างกระแสเงินสดได้ทันที คาดว่าการลงทุนในครั้งนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในสัญญา และสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/64

ขณะที่โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในช่วงทดสอบการเดินเครื่องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการ COD ในช่วงไตรมาส 3/64 ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในเวียดนาม กำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ ที่ BPP เข้าลงทุนก่อนหน้านี้จะรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/64 เช่นกัน

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและคาดว่าจะ COD ภายในปีนี้มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ได้ในช่วงไตรมาส 3/64 รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 2 โครงการ ได้แก่ เคเซนนุมะ (Kesennuma) กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และชิราคาวะ (Shirakawa) กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในไตรมาส 4/64

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการอยู่หลายแห่งในธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และพลังงานทดแทนเพื่อเข้ามาต่อยอดกับธุรกิจที่มีอยู่และสร้างกระแสเงินสดทันทีในประเทศที่บริษัทมีการลงทุนอยู่แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น โดยวางงบลงทุนราว 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปี 64 จะเติบโตกว่าปีก่อน หลังจากงวดครึ่งปีแรกมี EBITDA อยู่ที่ 2,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี EBITDA อยู่ที่ 1,655 ล้านบาท เนื่องจากสามารถรักษาระดับการทำกำไรจากการบริหารโรงไฟฟ้าได้ดี แม้จะมีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าตามแผนบางส่วน

*นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้นแล้ว สามารถดูรายละเอียดหุ้นหมวดธุรกิจ “พลังงานและสาธารณูปโภค” สามารถทำกำไรสุทธิเติบโตสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2561-2563 จนมาถึงงวดครึ่งแรกปี 2564 เป็นต้นมาได้จากตารางประกอบ และหากสังเกตหุ้นข้างต้นนับว่าเป็นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง สามารถรักษากำไรสุทธิได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นโอกาสให้นักลงทุนได้พิจารณาหุ้นดังกล่าวในการเข้าลงทุนในช่วงนี้!

Back to top button