เปิดโผ 20 หุ้นลิสซิ่ง! โชว์ผลงาน 3 ปีโตต่อเนื่อง KTC โกยกำไรครึ่งปีแรกสูงสุด 3.3 พันลบ.

เปิดโผ 20 หุ้นลิสซิ่ง! โชว์ผลงาน 3 ปีโตต่อเนื่อง KTC โกยกำไรครึ่งปีแรกสูงสุด 3.3 พันลบ. พร้อมจับตาปี 64 ทำสถิติใหม่อีกครั้ง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ขอนำเสนอข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หมวดธุรกิจ “กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์” หรือ ลิสซิ่ง ที่สามารถทำกำไรสุทธิเติบโตสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2561-2563 จนมาถึงงวดครึ่งแรกปี 2564 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เป็นการคัดกรองจากข้อมูลส่วนหนึ่งของทางนายสุเชษฐ์ สุขแท้ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายมีเดียมาร์เก็ตติ้ง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ได้รวบรวมข้อมูลเอาไว้

สำหรับการคัดกรองหุ้นในหมวดธุรกิจ “กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์” พบว่าหุ้นที่สามารถทำกำไรสุทธิเข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 20 ตัว ได้แก่ KTC, MTC, SAWAD, TIDLOR, AEONTS, BAM, THANI, JMT, ASK, SAK, TK, S11, AMANAH, NCAP, MICRO, CHAYO, ECL, ML, IFS และ PL โดยเรียงลำดับจากกำไรครึ่งปีแรก 2564 มากสุดไปหามากสุดดังตารางประกอบ

โดยรายแรก บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ระดับ 5,139.59 ล้านบาท,กำไรสุทธิ ปี 2562 อยู่ที่ 5,524.07 ล้านบาทและกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 5,332.87 ล้านบาท และล่าสุดผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กำไรสุทธิอยู่ที่ 3,313.77 ล้านบาท

ด้านนายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อ KTC เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจกำไรสุทธิปีนี้จะสามารถทำสถิติใหม่อีกครั้ง หลังจากช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบริษัทกำไรสุทธิแล้ว 3,325 ล้านบาท แม้คาดว่าทิศทางผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะออกมาต่ำกว่าช่วงครึ่งปีแรก จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงจะกระทบในช่วงที่เหลือของปีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่ออกมาไม่สะท้อนให้เห็นเด่นชัด

ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส 3/2564 บริษัทเตรียมการตัดจำหน่ายหนี้สูญ (write-off) ประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อรายย่อย ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจบริษัทกำลังดำเนินการปรับโครงสร้าง แต่อย่างไรก็ตามหนี้เสียรวมจาก KTBL ทั้งหมดมีประมาณ 2,200 ล้านบาท บริษัทมีการตั้งสำรองเต็มจำนวนเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว

“เราจะเน้นคุมหนี้เสีย คุมคุณภาพให้ดี ตลอดจนเน้นสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น เพื่อรักษากำไรให้เป็นไปตามที่เราคาดไว้ ส่วนปีหน้าจะเป็นอย่างไรขอเวลาอีก 1 – 2 เดือนก่อน เพราะต้องดูว่าภาครัฐจะออกมาตรการอะไรออกมาหรือไม่” นายระเฑียร กล่าว

ด้านนางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต KTC เปิดเผยว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไตรมาส 3/2564 จะยังคงติดลบ เนื่องจากในเดือนก.ค. ติดลบประมาณ 10% และ ส.ค. เห็นการติดลบอยู่ ซึ่งมาจากผลกระทบโควิด โดยเฉพาะหมวดการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ส่วนหมวดโรงพยาบาล ประกัน และ ซุปเปอร์มาร์เก็ตยังมีการเติบโต

รายที่สอง บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC กำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3,737.35 ล้านบาท กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 4,237.47 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 5,213.92 ล้านบาท และล่าสุดผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,643.73 ล้านบาท

ด้านนายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ MTC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2565 พอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะมากกว่า 100,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโตเป็น 30-35% จากเดิมตั้งไว้ที่ 20-25% เป็นผลจากความต้องการสินเชื่อยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ และเป็นไปตามการขยายสาขาที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ขณะที่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้จะพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.1% ในปี 2565 คาดว่าจะมีสาขาอยู่ที่ 6,100 สาขา ขณะที่สิ้นปีนี้คาดว่าจะมีสาขาเพิ่มเป็น 5,500 สาขา จากปัจจุบันอยู่ที่ 5,284 สาขา และในปีถัดไปจะเพิ่มอีก 600-700 สาขา และในปี 2566 จะมีสาขาทั้งสิ้น 6,700 สาขา

นายปริทัศน์ กล่าวว่า การเสนอขายหุ้นกู้ 3 รุ่น มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปที่ผ่านมา ได้รับความสนใจอย่างคึกคัก แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่กระแสตอบรับยังดีเกินคาด ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ และมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ยังมีความน่าสนใจอยู่ในระดับที่ดี เหมาะสมกับการเลือกลงทุนอีกด้วย

รายที่สาม บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD กำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ระดับ 2,768.36 ล้านบาท กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 3,756.49 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 4,508.33 ล้านบาท และล่าสุดผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,467.02 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตโตเนื่องในปีนี้

บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS ประเมินผลการดำเนินงาน SAWAD ผลงานครึ่งปีหลังจะเติบโตแข็งแกร่ง คาดว่ากำไรสุทธิเติบโต 21% ในปีนี้ โดยที่สินเชื่อจะโต 18% (ไม่รวมสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ จากบริษัท เงินสดทันใจ ที่ร่วมทุนกับธนาคารออมสิน) ขณะที่บริษัท เงินสดทันใจ คาดจะสร้างพอร์ตสินเชื่อได้ 1.85 หมื่นล้านบาท ช่วยหนุนงบของ SAWAD ในปีนี้

โดยบริษัท เงินสดทันใจ ได้ออกโปรโมชั่นดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน  หรือ 18% ต่อปี และในช่วง 12 เดือนแรกจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย (ไม่ต้องจ่ายเงินต้น) คาดจะจูงใจลูกค้าได้ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 81 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แนวโน้มสินเชื่อ SAWAD ยังคงขยายตัวสูง และส่วนแบ่งจากบริษัท เงินสดทันใจ จะดีขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน SAWAD ได้เริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม จากช่วงที่ผ่านมาได้ปล่อยสินเชื่อแบบระมัดระวัง ประเมินส่วนแบ่งจากบริษัท เงินสดทันใจ จะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง เนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่ยังสูง  โดยยังคงเป้าสินเชื่อบริษัท เงินสดทันใจ อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ SAWAD อาจจะขยายระยะเวลาสินเชื่อบริษัท เงินสดทันใจ ที่ดอกเบี้ยต่ำได้  ยังมีสำรองที่เพียงพอ และสามารถตั้งสำรองเพิ่มได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ COVID-19  ประเมินผลกระทบการควบคุมค่าติดตามทวงถามหนี้ที่ต่ำ เนื่องจาก บริษัท สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมภายใน

รายที่สี่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 2,190.68 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 2,412.39 ล้านบาท และล่าสุดผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,560.80 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตโตเนื่องในปี

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด แนะนำซื้อหุ้น  TIDLOR โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 44 บาทต่อหุ้น ซึ่งยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2565 เติบโต 25.5% และ 28.4% ตามลำดับ จากแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อสุทธิปี 2564-2565 ที่ 16.2% และ 16.8% และแนวโน้มสัดส่วน Cost to income ปี 2564-2565 ปรับลดลง

ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 3/2564 คาดว่ายังดีต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2564 จากแนวโน้มสินเชื่อเติบโตต่อเนื่องและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง จากการนำเงินที่ได้จากการระดมทุน IPO บางส่วนไปชำระหนี้ แต่จะถูกชดเชยด้วยแนวโน้ม Credit Cost สูงขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19

โดยมองว่าราคาหุ้น TIDLOR ปรับฐานลงมาจนปัจจุบันอยู่ที่ระดับราคาใกล้เคียงกับระดับ IPO แล้ว ซึ่งสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจชะลอตัว และการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนไปมากแล้ว

นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้นแล้ว สามารถดูรายละเอียดหุ้นหมวดธุรกิจ “กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์” สามารถทำกำไรสุทธิเติบโตสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2561-2563 จนมาถึงงวดครึ่งแรกปี 2564 เป็นต้นมาได้จากตารางประกอบ

ทั้งนี้หากสังเกตหุ้นข้างต้นนับว่าเป็นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง สามารถรักษากำไรสุทธิได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นโอกาสให้นักลงทุนได้พิจารณาหุ้นดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางในการเข้าลงทุนในช่วงนี้

Back to top button