ผู้ว่าธปท.แนะสร้างเกราะป้องกัน หลังเผชิญโควิด-19 รับมือโลกบริบทใหม่

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) แนะนำควรเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน BOT SYMPOSIUM 2021 สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า ในปี 2564 นี้ ถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมากของประเทศไทย เพราะนอกจากต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การเข้าสู่สังคมสูงวัย การปรับเปลี่ยนของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

“ความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และซ้ำเติมความเปราะบางต่างๆ ที่สั่งสมอยู่ในเศรษฐกิจและสังคมไทยมานาน ดังนั้น หากประเทศไทยจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอน หรือมี resiliency ได้นั้น ประเทศไทยจะต้องมีภูมิคุ้มกัน”  นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

โดยในช่วงที่ผ่านมา เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ มักถูกกล่าวถึงในมิติของความยั่งยืนทางการคลัง ความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และความเข้มแข็งของดุลการชำระเงิน ซึ่งถือได้ว่า ประเทศไทยมีเสถียรภาพในมิติต่าง ๆ เหล่านี้ในระดับที่ค่อนข้างดี แต่ภายใต้เศรษฐกิจมหภาคที่ดูมั่นคงนั้น เศรษฐกิจไทยกลับไม่ resilient และมีความเปราะบางมาก จากวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ตอกย้ำถึง นิยามของคำว่า “เสถียรภาพ” จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป ต้องมองในมุมที่กว้างขึ้น และครอบคลุมถึงปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านสังคม และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะมีความสำคัญและเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ในบริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนสูงนั้น เศรษฐกิจไทยจะ resilient ได้ ต้องมีลักษณะที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก คือ ความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (ability to avoid shocks) ประการต่อมา คือ  ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น (ability to withstand shocks) และประการสุดท้าย คือ ความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว (ability to recover from shocks) ซึ่งหากพิจารณาความสามารถของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้านนี้ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน เรามีขีดจำกัดในทุกด้าน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ resilient ต่อความท้าทายต่างๆ

ประการที่หนึ่ง เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ มีการพึ่งพาต่างประเทศที่สูงในแทบทุกมิติ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี รวมถึงการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะสังคมสูงวัย เศรษฐกิจไทยจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองโลกได้ยาก

ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถที่จำกัดในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้ ความสามารถของระบบเศรษฐกิจในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยแรก คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ช่วยให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีสภาพคล่อง หรือสายป่านที่ยาวเพียงพอให้อยู่รอดจนผ่านพ้นวิกฤต ปัจจัยต่อมา คือ ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนอาชีพของแรงงาน และการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตและการตลาดของธุรกิจ

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น มีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงและภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ เช่น ครัวเรือนยากจน แรงงานจบใหม่ แรงงานอิสระที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้ค่าจ้างเป็นรายวัน และธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนมากและอยู่นอกระบบ ไม่สามารถรับมือและปรับตัวต่อวิกฤตที่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสมานฉันท์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามารถผ่านกลไกใน 2 ระดับ คือ ระดับชุมชน และระดับประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยนำไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังลึก มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความสมานฉันท์ในสังคมไทยลดต่ำลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Values Survey ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันที่พบว่า ดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนั้น ได้บั่นทอนกลไกในการสร้าง resiliency ของระบบเศรษฐกิจไทย

ประการสุดท้าย เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบต่าง ๆ ที่จำกัด เนื่องจากการที่ครัวเรือนและธุรกิจในกลุ่มเปราะบางมักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายได้ที่ขาดหายไปก่อให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (economic scars) ที่ทำให้การฟื้นตัวของครัวเรือนและธุรกิจเหล่านี้ใช้เวลานาน และเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม

“แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ สินทรัพย์ของครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงทักษะของแรงงานที่ลดลง ในขณะที่ หนี้สินพอกพูนขึ้นจนเกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งทำให้ครัวเรือนและธุรกิจมีความสามารถในการบริโภคและการลงทุนที่ต่ำ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้”  ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

พร้อมระบุว่า การทำให้เศรษฐกิจไทย resilient ต่อความท้าทายในอนาคตนั้น จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยในทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่หนึ่ง คือ เพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบ ด้านที่สองเพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ และด้านที่สาม คือ เพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบ ซึ่งขอเสนอแนวทางดังต่อไปนี้

  1. ต้องมีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศ (country risk management) ที่ดี ต้องมีการบูรณาการของข้อมูลและองค์ความรู้ และมีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario analysis) ที่มีการพิจารณาถึงสถานการณ์ที่แม้มีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ แต่สร้างความเสียหายที่สูงด้วย
  2. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐมีบทบาทในการออกนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน
  3. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ดีขึ้น ลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป และเพิ่มการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนเป็นหลัก ส่วนภาครัฐมีบทบาทในการชี้ทิศทางและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในกิจกรรมและพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
  4. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ และให้แรงงานและธุรกิจต่าง ๆ สามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในยามวิกฤต โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานและธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ
  5. ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาสในด้านต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญทั้งในการกำกับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม
  6. สร้างโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) ในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต ตั้งแต่ความสามารถในการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายระหว่างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) และระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นบทบาทการดำเนินการของภาคเอกชนเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบ ส่วนความช่วยเหลือเยียวยาโดยตรงจากภาครัฐที่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต และปัญหา moral hazard ควรจำกัดอยู่ในเฉพาะสถานการณ์ที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้
  7. ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น สร้างสายป่านที่ยาวพอ ให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้และจ้างงานต่อเนื่อง ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤต สร้างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ และกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

Back to top button