CPF จับมือ “คู่ค้า” ยกระดับห่วงโซ่อุปทาน-สู่ระดับสากล

CPF จับมือ “คู่ค้าธุรกิจ” ขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทาน ยกระดับมาตรฐานการทำงานและแนวปฏิบัติสู่ระดับสากลสร้างความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม


นางสาวธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการ ด้านจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ CPF กล่าวว่า คู่ค้าธุรกิจ เป็นหัวใจที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทานของซีพีเอฟ ในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน รองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยสนับสนุนให้ซีพีเอฟสามารถดำเนินงานส่งมอบอาหารปลอดภัย ให้กับผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการปรับตัวรับภาวะวิกฤตได้ รวมทั้งการจัดกิจกรรม Capacity Building For Partnership Conference  ซึ่งจัดขึ้นประจำทุกปี เพื่อแบ่งปันและถ่ายทอดนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน และแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้า เพื่อให้ความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารซีพีเอฟ มาจากห่วงโซ่อุปทานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปลอดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการบุกรุกหรือตัดไม้ทำลายป่า

“ในปีนี้ ซีพีเอฟเดินหน้าแบ่งปันและทำความเข้าใจในกลยุทธ์ความยั่งยืนใหม่ CPF 2030 Sustainability in Action” รวมถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อให้คู่ค้าธุรกิจสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลง บริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์และบริษัท การได้มาซึ่งการยอมรับ ไว้วางใจจากสังคมและลูกค้า” นางสาวธิดารัตน์ กล่าว

โดยนายศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธนะกุล กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ Flexibles บจก.ที.เอ.เค. แพ็คเกจจิ้ง ผู้จัดหาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้กับซีพีเอฟมานานกว่า 10 ปี  กล่าวว่า ที.เอ.เค. คำนึงถึงการเติบโตธุรกิจในระยะยาว และสร้างสมดุลสภาพสิ่งแวดล้อม  ได้ร่วมสนับสนุนพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบ mono material ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถนำบรรจุภัณฑ์หลังใช้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อตอบโจทย์ซีพีเอฟที่มีโนยบายใช้บรรจุภัณฑ์อาหารตามแนวทาง Circular Economy มากขึ้น

ด้านนางสาวอัจฉรา งานทวี  Domestic sales and Marketing Director  บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม กล่าวว่า  กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง เป็นคู่ค้ากับซีพีเอฟมายาวนานกว่า 10 ปี บริษัทฯ มีแนวทางการดำเนินธุรกิจเติบโตด้วยหลักธรรมาภิบาล คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมส่งมอบวัตถุดิบที่มาจากกระบวนการผลิตยั่งยืนให้กับกระบวนการผลิตอาหารของซีพีเอฟอย่างต่อเนื่อง  โดยดูแลกระบวนการผลิตน้ำตาลที่ได้มาตรฐานการปลูกอ้อยยั่งยืน (Bonsucro) ครอบคลุมการปลูกอ้อยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

อย่างไรก็ดีซีพีเอฟ มุ่งมั่นบริหารความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานตาม นโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ เริ่มตั้งแต่กระบวนสรรหาและคัดเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพ สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ  รวมทั้งพิจารณาความสามารถในการผลิตคุณภาพความปลอดภัยของสินค้า ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ

ทั้งนี้การประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าในกระบวนการจัดหาและการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินงานของคู่ค้าให้เติบโตไปด้วยกัน โดยเชื่อมโยงแนวทางความยั่งยืนทั้งด้านการกำกับดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมเข้ามาในกระบวนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน  โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับสร้างความผูกพัน และ รักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่ค้าตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย

 

 

 

 

   

Back to top button