“ส.อ.ท.” เผยยอดส่งออกรถยนต์พ.ย.โต 33% นิวไฮรอบ 8 เดือน

“ส.อ.ท.” เผยยอดส่งออกรถยนต์พ.ย.โต 33% นิวไฮรอบ 8 เดือน หนุน 11 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัว 19% มั่นในทั้งปีผลิตรถยนต์ทะลุเป้า 1.6 ล้านคัน


นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน พ.ย.64 อยู่ที่ 98,829 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 32.60% และเพิ่มขึ้น 21.15% จากเดือนต.ค.64 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรถยนต์ 57,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.30% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกตลาด ซึ่งสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ด้านยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือนพ.ย.64 อยู่ที่ 71,716 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.2% แต่เพิ่มขึ้น 11.25% จากเดือน ต.ค.64 สูงสุดในรอบ 8 เดือนเช่นกัน เนื่องจากประชาชนเชื่อมั่นรายได้ในอนาคตมากขึ้นจากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล รวมถึงการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19

ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ย.64 ผลิตได้ 165,353 คัน ซึ่งแม้จะสูงสุดในรอบ 12 เดือน แต่ลดลง 4.12% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เพิ่มขึ้น 7.35% จากเดือนต.ค.64 ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค. – พ.ย.64) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,531,337 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.26% ซึ่งทำให้เชื่อมั่นว่าในปีนี้ จะสามารถผลิตรถยนต์ได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.6 ล้านคันอย่างแน่นอน

“ยอดการผลิตรถยนต์เดือนพ.ย. ถือว่ายอดไม่ผิดหวัง แม้จะมีปัญหาขาดแคลนชิปบางรุ่นในรถยนต์นั่ง ส่วนยอดผลิตรวม 11 เดือนแรก อยู่ที่ 1,531,337 คัน ก็เชื่อว่าทั้งปีนี้ การผลิตจะทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 1.6 ล้านคันแน่นอน” นายสุรพงษ์ ระบุ

โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2565 ยอดการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป จะอยู่ที่ราว 1.7-1.8 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 8.0-8.5 แสนคัน และยอดผลิตเพื่อการส่งออก 9.0-9.5 แสนคัน ทั้งนี้เป้าหมายดังกล่าวขึ้นกับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ 1.สถานการณ์ระบาดในทั่วโลกของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด และ 2.ปัญหาการขาดแคลนชิปในการผลิตรถยนต์บางรุ่น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ

“เราตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์ปีหน้าไว้ที่ 1.7 – 1.8 ล้านคัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ระบาดของโอมิครอน จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิปด้วย ถ้าสถานการณ์ปีหน้า ยังเป็นแบบตอนนี้ คือสามารถเปิดประเทศได้ ไม่มีการล็อกดาวน์ ก็น่าจะทำได้ตามยอดทั้งตั้งไว้” นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวถึงแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่า แนวนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้มีการใช้รถ EV ในประเทศมากขึ้นนั้น เห็นว่า การใช้แนวทางลดอัตราภาษีเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ รัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องของราคารถ EV ที่ควรปรับลดลงไปใกล้เคียงกับราคาของรถสันดาป โดยมองว่าราคารถ EV ควรจะต่ำกว่าคันละ 1 ล้านบาท ตลอดจนการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จรถ EV ให้มากขึ้นในทั่วประเทศ

“รัฐต้องเข้ามา support เรื่องราคาด้วย ให้ราคาใกล้เคียงกับรถที่ใช้น้ำมัน รัฐอาจต้องหาเงินมาชดย ไม่เช่นนั้น โอกาสที่รถ EV จะขยายตัวคงจะยาก รวมถึงสถานีชาร์จ ก็ต้องเร่งขยาย ซึ่งตอนนี้เห็นว่าทาง กฟภ.เริ่มเตรียมการแล้ว เพื่อจะให้อย่างน้อยทุก 100 กม. ต้องมีเครื่องชาร์จไฟ คาดว่าใน 1-2 ปี น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น” นายศุภรัตน์ กล่าว

โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือน พ.ย.64 มีรถยนต์ EV ที่จดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ในประเทศแล้ว รวมทั้งสิ้น 1,804 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49.8%

Back to top button