“ส.อ.ท.” เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ธ.ค. พุ่ง 4 เดือนติด หลังคลายล็อกดาวน์-มาตรการรัฐหนุน

“ส.อ.ท.” เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมธ.ค.พุ่ง 4 เดือนติด มาที่ระดับ 86.8 เพิ่มขึ้นจาก 85.4 เดือนพ.ย.64 หลังคลายล็อกดาวน์-มาตรการรัฐหนุนภาคการผลิต การค้า และการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น


สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 64 อยู่ที่ระดับ 86.8 เพิ่มขึ้นจาก 85.4 ในเดือนพ.ย.64 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ภายหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นทั้งภาคการผลิต การค้า และการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่

ในด้านการส่งออก มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกและช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการยังเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ ขณะที่ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และตู้คอนเทนเนอร์ยังไม่คลี่คลาย

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ 95.2 จาก 97.3 ในเดือนพ.ย.64 เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเริ่มระบาดในประเทศและในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าหากมีการแพร่ระบาดรุนแรงในประเทศภาครัฐอาจพิจารณาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการและฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1.เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้เร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดและลดความรุนแรง,2.ยกระดับมาตรการสาธารณสุข ควบคู่ไปกับมาตรการด้านเศรษฐกิจ โดยไม่นำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

3.การเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข ศูนย์พักคอย สถานที่กักตัว และโรงพยาบาล ตลอดจนสำรองยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมบุคลากร เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ4.เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ภายใต้กรอบความร่วมมือการเปิดเสรีการค้าตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 ที่ผ่านมา

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่หากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะป้องกันอาการรุนแรงได้

ส่วนการระงับการเดินทางเข้าประเทศรุปแบบ Test&Go ก็ส่งผลต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวให้ชะลอออกไปจากเดิม เพราะนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาในไทย จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแซนด์บ็อกซ์ และอาจจะต้องเลื่อนการจัดงาน FTI เอ็กซ์โปที่จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนหน้าออกไปก่อน

ส่วนสถานการณ์ราคาสินค้าหลายรายการที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็มีความน่าเป็นห่วง เพราะจะส่งผลให้ค่าครองชีพและเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลคงต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือค่าครองชีพเพื่อแบ่งเบาภาระให้ประชาชน

Back to top button