สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 12 ม.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 12 ม.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (12 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากมุมมองที่ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดจะไม่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถูกกดดันให้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาผลประกอบการไตรมาส 4/2564 ของธนาคารรายใหญ่ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกน และซิตี้กรุ๊ป

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 36,290.32 จุด เพิ่มขึ้น 38.30 จุด หรือ +0.11%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,726.35 จุด เพิ่มขึ้น 13.28 จุด หรือ +0.28% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,188.39 จุด เพิ่มขึ้น 34.94 จุด หรือ +0.23%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพุธ (12 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งปรับตัวขึ้นจากความหวังว่า จีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงได้ลดแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 486.20 จุด เพิ่มขึ้น +3.12 จุด หรือ +0.65%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,237.19 จุด เพิ่มขึ้น 53.81 จุด หรือ +0.75%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 16,010.32 จุด เพิ่มขึ้น 68.51 จุด หรือ +0.43% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,551.72 จุด เพิ่มขึ้น 60.35 จุด หรือ +0.81%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพุธ (12 ม.ค.) นำโดยหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นตามการทะยานขึ้นของราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ขณะที่การเปิดเผยผลประกอบการเชิงบวกของบริษัทจดทะเบียนได้ช่วยหนุนบรรยากาศการซื้อขายในตลาดด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,551.72 จุด เพิ่มขึ้น 60.35 จุด หรือ +0.81%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 82 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันพุธ (12 ม.ค.) ขานรับตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงมากกว่าการคาดการณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐยังคงแข็งแกร่งแม้ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดในประเทศ

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.42 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 82.64 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2564

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 95 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 84.67 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2564

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ในวันพุธ (12 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ชะลอตัวลง หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 8.8 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,827.30 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดที่สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2564

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 39.5 เซนต์ หรือ 1.73% ปิดที่ 23.207 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 6.9 ดอลลาร์ หรือ 0.71% ปิดที่ 980.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 6.30 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 1,915.80 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (12 ม.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และยอดค้าปลีก

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.74% แตะที่ 94.9201 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 114.40 เยน จากระดับ 115.36 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9135 ฟรังก์ จากระดับ 0.9237 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2501 ดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2581 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1448 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1366 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3711 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3627 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7290 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7208 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button