โบรกฯหวั่น “รัสเซีย-ยูเครน” ตึงเครียด ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลก-ไทย เสี่ยงรูดพรุ่งนี้!

โบรกฯหวั่น “รัสเซีย-ยูเครน” ตึงเครียด ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลก-ไทย เสี่ยงรูดพรุ่งนี้! แนะจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด ลุ้นทดสอบแนวรับแนวรับที่ 1,684 และ 1,670 จุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (วันที่ 24 มกราคม 2565) ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ มีชนวนจากการแย่งชิงอำนาจเชิงยุทธศาสตร์ และข้อพิพาทเรื่องพรมแดน โดยฝั่งรัสเซียมองว่ายูเครนเป็นกันชนสำคัญในการต้านอิทธิพลจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ ส่วนยูเครนมองว่ารัสเซียเป็นผู้บุกรุกที่ยึดครองดินแดนของตนไปแล้วบางส่วน

ยูเครนเป็นประเทศที่มีขนาด 603,628 ตารางกิโลเมตร คั่นกลางระหว่างรัสเซียกับยุโรป อีกทั้งยูเครนเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียตถึงปี 2534 หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็กลายเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ เศรษฐกิจซบเซา และนโยบายต่างประเทศอ่อนแอ แกว่งไปมาระหว่างการสนับสนุนรัสเซียกับการสนับสนุนยุโรป

ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่กรุงเคียฟของยูเครน มีการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี “วิกตอร์ ยากูโนวิช” ที่ปฏิเสธแผนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป

อนึ่งระหว่างการประท้วงในยูเครน รัสเซียให้การสนับสนุนยากูโนวิช ขณะที่สหรัฐและยุโรปสนับสนุนผู้ประท้วง

ทั้งนี้ประธานาธิบดียากูโนวิชหลบหนีออกนอกประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หลังกองกำลังความมั่นคงของยูเครนปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ทำให้การประท้วงลุกลามขึ้น ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลง

อีกทั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ชาวไครเมียตัดสินใจอยู่ฝั่งเดียวกับสหพันธรัฐรัสเซีย ผ่านการลงประชามติหาข้อสรุปในพื้นที่พิพาท เมื่อเดือนมีนาคม 2557 กองทัพรัสเซียจึงได้เข้ายึดครองภูมิภาคไครเมีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของยูเครน ก่อนการผนวกรวมอย่างถูกกฎหมาย

โดยประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” ของรัสเซีย ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาสิทธิของชาวรัสเซียและผู้ที่ใช้ภาษารัสเซีย ทั้งในไครเมียและทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ตลอดมา

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความตึงเครียดทางชาติพันธุ์รุนแรงขึ้น และผู้แบ่งแยกดินแดนซึ่งสนับสนุนรัสเซีย ในภูมิภาคดาเนียตสก์ และภูมิภาคลูกานสก์ ทางตะวันออกของยูเครน ได้จัดการลงประชามติในอีก 2 เดือนต่อมา เพื่อประกาศอิสรภาพจากยูเครน

ทั้งนี้การนองเลือดเกิดขึ้นนานหลายเดือน หลังผู้แบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดาเนียตสก์ และภูมิภาคลูกานสก์ ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประกาศอิสรภาพจากยูเครน แม้ว่ายูเครนกับรัสเซียจะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงมินสค์เมื่อปี 2558 แล้วก็ตาม ทั้งนี้ สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสและเยอรมนี อย่างไรก็ตาม มีการละเมิดการหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง

โดยสหประชาชาติประมาณการว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 มีพลเรือนมากกว่า 3,000 คน ที่ต้องสังเวยชีวิตในยูเครนตะวันออก ผลจากความขัดแย้งดังกล่าว

ด้านบรรดาผู้นำของรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศส และเยอรมนี ร่วมประชุมกันที่กรุงปารีส เมื่อเดือนธันวาคม 2562 เพื่อย้ำจุดยืนที่เคยแสดงไว้ต่อข้อตกลงสันติภาพเมื่อปี 2558 แต่การประชุมครั้งนั้น มีความคืบหน้าเรื่องการระงับข้อพิพาททางการเมืองเพียงเล็กน้อย

นาโต้ หรือองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2492 เพื่อตอบโต้การรุกรานของสหภาพโซเวียต นับตั้งแต่นั้นมา พันธมิตรของนาโต้ก็เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีทั้งหมด 30 ประเทศ ซึ่งรวมถึงลิทัวเนีย เอสโตเนีย และลัตเวีย ทั้งหมดนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน ตามสนธิสัญญาของนาโต้ หากประเทศพันธมิตรนาโต้ถูกรุกรานหรือโจมตีโดยประเทศนอกกลุ่ม ประเทศพันธมิตรทั้งหมดจะต้องระดมกำลังเพื่อปกป้อง ซึ่งทางการรัสเซียต้องการให้นาโต้รับรองว่า ยูเครนและจอร์เจีย จะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรนาโต้ ทั้งนี้ สองประเทศดังกล่าวเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตเช่นกัน และรัสเซียเคยบุกรุกในช่วงสั้นๆ เมื่อปี 2551 โดยปูตินไม่สามารถปฏิเสธสิทธิของยูเครนได้ แต่ตามคำบอกเล่าของทีมบริหารไบเดนและพันธมิตรนาโต้ คาดว่านาโต้เองก็ยังไม่มีแผนมอบสมาชิกภาพให้กับยูเครนในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตามสหรัฐ และนาโต้ มองว่าความเคลื่อนไหวและความตึงเครียดทางทหารทั้งในและพื้นที่โดยรอบยูเครน มีความ “ผิดปกติ” แม้จะมีคำเตือนจากประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ของสหรัฐ รวมถึงผู้นำหลายชาติในยุโรป ว่า การรุกรานของปูตินจะทำให้เกิดหายนะ แต่กองทหารรัสเซียมากกว่า 100,000 นาย ยังคงประจำการอยู่ใกล้ชายแดนยูเครน ตามข้อสรุปของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม ระบุว่า รัสเซียอาจเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครนในปีนี้

ทั้งนี้หากรัสเซียเพิ่มกำลังทหารในยูเครนหรือในประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรนาโต้ ความขัดแย้งในยูเครนเสี่ยงที่จะทวีความรุนแรงขึ้น และอาจนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ ส่วนความเคลื่อนไหวของรัสเซียทำให้เกิดความกังวลว่า เหล่าประเทศพันธมิตรนาโต้จะออกมาตอบโต้รัสเซีย โดยการสู้รบในอดีตได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐและยุโรปตึงเครียดขึ้น ทั้งยังส่งผลเสียต่อโอกาสในการร่วมมือกันในด้านอื่นๆ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย, การควบคุมอาวุธ และการแก้ปัญหาทางการเมืองในซีเรีย

ด้านนักวิเคราะห์จากบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ต้องติดตามสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย ยูเครน และสหรัฐ อย่างใกล้ชิด หลังการพูดคุยกันล่าสุดทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ยังไม่มีความคืบหน้า

โดยโจ ไบเดน ระบุว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรพร้อมที่จะตอบโต้อย่างรุนแรง หากรัสเซียบุกยูเครน ขณะที่รัสเซียออกแถลงการณ์โต้ว่าสหรัฐวิตกกังวลมากเกินไป ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างอ่อนไหว ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุรุนแรงขึ้น

สำหรับก่อนหน้านี้ สหรัฐออกมาเตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจจะลงมือใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนในเดือนก.พ. นี้ นอกจากนี้ สหรัฐและชาติพันธมิตรนาโต้ออกมาปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมกับนาโต้ทำให้สถานการณ์โดยรวมยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มองว่าหากเกิดความรุนแรงขึ้นตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับฐาน โดยมีแนวรับที่ 1,684 และ 1,670 จุด

ขณะเดียวกันบล.ไทยพาณิชย์ ระบุว่า สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนสร้าง sentiment เชิงลบต่อภาวะการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยเสี่ยงถูกเทขายหนัก

โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (14-18 ก.พ.2565) มีแนวรับที่ 1,650 จุด / 1,630 จุด และแนวต้าน  1,680 จุด  / 1,690 จุด

ด้าน เจพี มอร์แกน ประเมินว่าหากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนบานปลาย ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และหากกำลังการผลิตน้ำมันของรัสเซียลดลงครึ่งหนึ่ง ราคาน้ำมันมีโอกาสพุ่งไปถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว 0.9% ในครึ่งปีแรก

Back to top button