SCB คิกออฟสวอป “SCBX” 2 มี.ค. ปลดล็อก CardX สยายปีก บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

SCB คิกออฟสวอป “SCBX” เข้าตลาด เคาะเทนเดอร์แลกหุ้น 1:1 เริ่ม 2 มี.ค.65 ปลดล็อก CardX สยายปีกปลดแอกสินเชื่อส่วนบุคคล-บัตรเครดิต ขณะที่ซื้อ ‘บิทคับ’ ยื่นธปท. แล้ว


นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของธนาคารฯ เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ได้มาถึงกระบวนการแลกหุ้นจากธนาคารไทยพาณิชย์ “SCB” เป็น “SCBx” และนำหุ้น “SCBx” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกลุ่มไทยพาณิชย์ เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินที่มีศักยภาพสูง และธุรกิจแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ มุ่งยกระดับองค์กรสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด และสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนและแข็งแรงให้กับผู้ถือหุ้นต่อไปในระยะยาว

สำหรับกระบวนการแลกหุ้นในครั้งนี้ SCBX จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารในอัตรา 1 หุ้นสามัญของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX การแลกหุ้นดังกล่าวจะไม่ได้เป็นไปโดยอัตโนมัติ แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่ผู้ถือหุ้นของ SCB ได้ทำการ “ตอบรับ” คำเสนอซื้อหลักทรัพย์แล้วเท่านั้น และเมื่อกระบวนการแลกหุ้นแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565 และเมื่อผู้ถือหุ้น SCB ตอบรับคำเสนอซื้อมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ SCB หุ้น “SCBX” จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยจะยังใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “SCB” เช่นเดิม และผู้ถือหุ้น SCB ที่ได้ทำการแลกหุ้นได้สมบูรณ์ตามกำหนดเวลาจะเปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้น SCBX แทน ส่วนผู้ถือหุ้นของ SCB ที่ไม่ได้ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในเวลาที่กำหนดจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารต่อไป อย่างไรก็ตามหลักทรัพย์ของธนาคารจะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ในวันที่หลักทรัพย์ของ SCBX เข้าจดทะเบียน  

“เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพและความคล่องตัวในการเติบโตของธุรกิจภายใต้กลุ่มไทยพาณิชย์ในหลายด้าน รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในการทำธุรกิจของกลุ่มฯ ให้สามารถขยายและพัฒนาธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตได้อย่างเต็มที่ มีการแบ่งแยกการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มไทยพาณิชย์โดยรวม และจะนำไปสู่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากการดำเนินงานของธุรกิจที่โอนย้ายไปยัง SCBX รวมถึงธุรกิจใหม่ในอนาคตในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตและมีศักยภาพสูง” นายอาทิตย์ กล่าว

สำหรับระยะเวลารับซื้อเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 16.00 น. ของวันที่ 2 มีนาคม 2565 ถึง วันที่ 18 เมษายน 2565 (เฉพาะวันทำการ) หรือระยะเวลาทำการของแต่ละช่องทางรับยื่นแบบตอบรับคำเสนอซื้อ รวมทั้งสิ้น 30 วันทำการ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวอาจขยายเวลารับซื้อได้อีก

ส่วนตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agents) 1.บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS), 2. บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน ภัทร จำกัด (มหาชน) (KKPS), 3.บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) (BLS), 4.บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (ASP)

ทั้งนี้ธนาคารเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจในหลายๆด้าน จึงดำเนินการให้มีการจัดตั้งบริษัทเพื่อเป็นบริษัทใหญ่ของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และมีบทบาทในการกำหนดนโยบายกำกับดูแลและบริหารจัดการกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้เกิดความสอดคล้องในด้านยุทธศาสตร์โดยรวม ตลอดจนบริหารจัดการการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ด้วย

นอกจากนั้นการโอนย้อยบริษัทย่อยและโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของธนาคาร เพื่อสร้างบริษัททางการเงินที่มีคุณภาพ โดยธนาคารได้ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินครบวงจรสำหรับลูกค้าทุกประเภท โดยได้จัดตั้งบริษัท คาร์ด เอ็กซ์ จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 เพื่อประกอบธุรกิจบัตรเครดิต (Credit Card) ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน (Personal Loan) ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ(Nano Finance) ธุรกิจทวงถามหนี้ และธุรกิจนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งจะรับโอนจากธนาคารฯ ตามที่ได้รับจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวจะต้องได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน

สำหรับบริษัทดังกล่าวมีบริษัทย่อยได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ คาร์ด เอกซ์ จำกัด ซึ่งจะประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์และติดตามหนี้ โดยเงินทุนที่จะใช้ในกำรประกอบธุรกิจอาจมาจากเงินปันผลตามที่ได้รับอนุมัติโดย ธปท. หรืออาจพิจารณนำเงินกู้ยืมจำกภายนอกตามความเหมาะสม

นอกจากนั้น บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 เพื่อประกอบสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (Personal loan) ทั้งที่ไม่มีหลักประกันและที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) สินเชื่อจดใหม่การนำเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน หรือสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และธุรกิจนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย

อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวจะต้องได้รับอนุมัติจำกหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องก่อน

โดยในส่วนของเงินทุนที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจอาจมาจากเงินปันผลตามที่ได้รับอนุมัติโดย ธปท. หรืออาจพิจารณาเงินกู้ยืมจากภายนอกตามความเหมาะสม

พร้อมกับบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) อยู่ในระหว่างวางแผนการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยในอนาคตหากแผนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของ SCBS มีความแน่นอน ส่งผลให้ทิศทางการลงทุนและการเติบโตของ SCBS มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะพิจารณาให้บริษัทดังกล่าวเป็นธุรกิจหลักและแจ้งผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพื่อทราบ และดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการจ่ายเงินปันผลของธนาคารฯ การโอนย้ายบริษัทย่อยและการโอนย้ายธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันนั้น ปัจจุบันธนาคารฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการรับโอนย้ายบริษัทย่อยคาดว่าจะใช้เงินทุนจากเงินที่ได้รับจากการจ่ายเงินปันผล ของธนาคารฯ และการโอนย้ำยธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันคาดว่าจะใช้เงินทุน จากเงินที่ได้รับจากการจ่ายเงินปันผลของธนาคารฯ เงินกู้จากธนาคารฯ และเงินกู้จากแหล่งเงินทุนภายนอก

ทั้งนี้มูลค่าการโอนย้ายบริษัทย่อยและธุรกิจทั้งหมดจะเท่ากับประมาณ 130,000 ล้านบาท (ประเมินในเบื้องต้นจากงบการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564) และจำนวนเงินปันผลทั้งหมดที่ขออนุมัติธนาคารแห่งประเทศไทย เท่ากับ 70,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ต้องใช้ในการโอนธุรกิจส่วนที่เหลืออาจพิจารณาจากแหล่งเงินกู้จากภายนอก หรือเงินกู้จากธนาคารฯ โดยจะกู้เงินจากธนาคารได้โดยที่ไม่ทำให้ยอดเงินกู้โดยบริษัทย่อยที่ไม่จัดอยู่ ในกลุ่ม Solo Consolidation รวมกันแล้วเกิน 25% ของเงินกองทุนของกลุ่ม Solo Consolidation

ขณะที่ตามส่วนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการขออนุญาตดังกล่าวข้างต้น ไม่รวมถึงการลงทุนในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub Online) ที่บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด จะซื้อหุ้นของ Bitkub Online จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ Bitkub Online ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อเข้าสู่ธุรกิจ Digital Asset อันจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่บริษัทฯ จะมุ่งเน้นในยุทธศาสตร์ระยะยาวของกลุ่ม ซึ่งได้ทำการการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) และยื่นคำขอกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยในการลงทุนใน Bitkub Online เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แล้ว

Back to top button