MINT ส่ง จม.ถึงนายกฯ จี้ยกเลิก Thailand Pass

ประธานไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอยกเลิกระบบหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Thailand Pass) และมาตรการ "Test & Go" หลังเป็นอุปสรรคของนักท่องเที่ยวเข้าไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ได้ส่งจดหมายถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อเสนอแนะในการยกเลิกระบบหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Thailand Pass) และมาตรการ “Test & Go”

สาระสำคัญในจดหมายดังกล่าว เป็นการเขียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า แม้สำนักข่าวต่าง ๆ จะรายงานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย แต่หากพิจารณาจากจำนวนผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเดือนเมษายนนี้ มีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 11,623 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อวันจำนวนกว่า 50,000 คนในเดือนเมษายน 2563

โดยเหตุผลที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยยังมีตัวเลขไม่สูงมาก เนื่องจากถึงแม้ว่าจะมีการยกเลิกการแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย แต่ผู้เดินทางยังต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย และต้องมีค่าใช้จ่ายในการชำระเงินค่าที่พักในโรงแรม 1 คืน อีกทั้งยังต้องซื้อประกันสุขภาพ เพื่อขอรับวีซ่าและหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Thailand Pass) นั่นหมายถึงว่า ผู้เดินทางต้องผ่านกฎระเบียบหลาย ๆ ขั้นตอน กว่าจะเดินทางเข้าประเทศไทยได้

นอกจากนี้ สถานการณ์ของการเดินทางในปัจจุบันของนักท่องเที่ยว ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวต้องการความยืดหยุ่นในการวางแผนการเดินทาง มาตรการใด ๆ ที่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมหรือมีข้อจำกัดด้านการเดินทาง จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้าประเทศนั้นๆ ทำให้หลายๆ ประเทศที่ระบบเศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติ  ได้ยกเลิกมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศทั้งหมด เพื่อเร่งฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่ได้ประกาศยกเลิกมาตรการกักตัว รวมถึงการลงทะเบียนขออนุญาตเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และประเทศกัมพูชาที่ได้กลับมาเปิดให้บริการขอ Visa on Arrival สำหรับผู้เดินทางต่างชาติทุกคน ยกเลิกข้อกำหนดให้แสดงผลตรวจ RT-PCR ของโควิด-19 และยกเลิกข้อกำหนดในการตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (ATK) เมื่อเดินทางถึงประเทศกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและประเทศมัลดีฟส์ ที่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดของตนเองด้วยเช่นกัน จึงเห็นว่า ประเทศไทยควรเลือกที่จะยึดตามหลักปฏิบัติที่ใช้กันในหลาย ๆ ประเทศ โดยการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางทั้งหมด และกลับมาใช้กฎการเข้าประเทศเดิมของประเทศไทย ก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยควรตระหนักว่า การติดเชื้อโอมิครอนจากในประเทศนั้นมีอัตราสูงกว่าการติดเชื้อจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 99 ต่อ 1 และคนไทยมีความเข้าใจในลักษณะโรคประจำถิ่นของเชื้อโอมิครอน และพร้อมรับมือให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่

ดังนั้น เงื่อนไขที่ต้องมีการขออนุมัติเข้าประเทศล่วงหน้า และข้อกำหนดในการตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยนั้น จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีประสิทธิผล จึงเสนอให้มีการยกเลิกระบบการขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Thailand Pass) ข้อบังคับเรื่องการทำประกันสุขภาพ และการตรวจโควิดเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยอย่างทันที เนื่องจากเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบโดสหรือใบรับรองแพทย์กรณีหายจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ก็เพียงพอต่อการอนุญาตให้เข้าประเทศแล้ว

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจัดเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย การร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ควบคู่กับการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ จะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทยประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

Back to top button