“เงินเยน” เอฟเฟกต์! กดบาทอ่อน ดัน “รพ.-อาหาร-อิเล็คฯ” ตีปีก! ชู BDMS-BCH-SAPPE-KCE เด่น

“โนมูระ” จัดธีมลงทุนรับ “เงินเยน” นิวโลว์รอบ 20 ปี กดบาทอ่อน เน้นลงทุนกลุ่มรับอานิสงส์ “รพ.-อาหาร-อิเล็คฯ” ชูหุ้น KCE-SAPPE-BDMS-BCH เด่น พร้อมแนะเลี่ยง นิคมฯ-อสังหาฯ-ยานยนต์


บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (21 เม.ย.2565) ว่าภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ภาพนโยบายการเงินโลกแปรเปลี่ยน เข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้น นำโดยเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตโดดเด่น อย่างไรก็ตามความแตกต่างของวงจรเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ นำมาสู่การใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกัน

ส่วนประเทศที่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ ญี่ปุ่น, จีน และไทย อาจต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย สร้างความแตกต่างของผลตอบแทนแต่ละกลุ่มประเทศที่ถ่างออกมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากค่าเงินเยนต่อดอลลาร์อ่อนค่าแรงถึง 5.4% ภายใน 1 เดือน มาอยู่ที่ 128.28 เยนต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี เป็น Sentiment ลบต่อค่าเงินเอเชียรวมถึงเงินบาทอ่อนค่า ตามความสัมพันธ์ของค่าเงินภูมิภาค และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในลักษณะเดียวกัน

โดยค่าเงินเอเชียเคลื่อนไหวตามนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน นำโดยค่าเงินเยน ที่อ่อนค่ารุนแรงสุดในรอบ 20 ปี สำหรับประเทศหลักที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากช่วง Covid-19 ระบาดได้รวดเร็ว เช่น สหรัฐฯ จะเห็นการให้แนวทางที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัวนำมาสู่คาดการณ์ Nomura ในปัจจุบันถึงคาดการณ์อัตราแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีไปอยู่ที่ 2.75% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ราว 0.5%

ขณะที่ Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯ ขยับขึ้นไปสู่ราว 2.8-2.9% ทิศทางดังกล่าวต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคงอัตราดอกเบี้ย นโยบายในระดับต่ำ ที่ -0.1% พร้อมเดินหน้ามาตรการ Yield Curve Control ต่อ ทำให้ Bond Yield 10 ปีของญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนราว 0.24% ต่ำกว่าฝั่งสหรัฐฯมากก่อให้เกิดความต้องการขายเงินเยน แลกเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ (Yen Carry Trade) กดดันค่าเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี โดยทีมกลยุทธ์พบว่าค่า Correlation ระหว่างค่าเงินเยนและค่าเงินบาทอยู่ที่ 60%

นอกจากค่าเงินเยนแล้วค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า ตอบรับเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากการระบาท Covid-19 รุนแรงขึ้นทำให้ทางการจีนเดินหน้าแผน Zero Covid Strategy (ZCS) ดังนั้น  PBoC จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อภาพดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยถ่วงค่าเงินเอเชียและบาทอ่อนค่า (Correlation ระหว่างค่าเงินหยวนและค่าเงินบาทอยู่ที่ 70%)

ส่วนของประเทศไทยนั้นปัจจุบันเศรษฐกิจยังฟื้นตัวจากสถานการณ์ Covid-19 ช้ากว่ากลุ่ม โดยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ทำให้ กนง.ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายช่วยสนับสนุน ซึ่ง Nomura คากกนง.จะคงดอกเบี้นตลอดปี 2565 ดังนั้น จึงมองมีโอกาสที่จะเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าได้เช่นเดียวกับเยน โดยปัจจุบัน Bond Yield 10 ปี ของไทยให้ผลตอบแทนอยู่ที่ราว 2.18% แต่ระดับอ่อนค่าจะมากน้อยยังขึ้นกับแผนเปิดประเทศของรัฐฯพิจารณา 22 เม.ย. 2565 นี้

ทีมกลยุทธ์พบว่าวงจรค่าเงินเยนอ่อนค่า และแนวโน้มการทำ Yen Carry Trade ในปัจจุบันใกล้เคียง 2 วงจรในอดีตคือปี 2547-2548 และปี 2557-2558 ซึ่งหุ้นไทยกลุ่มที่ Outperform คือ โรงพยาบาล, ส่งออก, ท่องเที่ยว, และกลุ่ม Underperform คือ เหล็ก, ยานยนต์, อสังหาฯ เลือก KCE, SAPPE, BDMS, BCH และ CPALL เป็นหุ้นเด่น

ทั้งนี้ จากการศึกษาของทีมกลยุทธ์ โดยใช้ 2 เกณฑ์พิจารณาว่าเกิดภาวะดังกล่าวในอดตี คือ ค่าเงินดอลลาร์ต่อเยน และส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯและญี่ปุ่น พบว่าเหตุการณ์คล้ายกันที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2547-2548  และปี 2557-2558 เมื่อมีสัญญาณล่วงหน้าที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ประเทศจะถ่างกว้างขึ้นในอนาคต ค่าเงินจะอ่อนค่าล่วงหน้าก่อน ซึ่งคล้ายกับสถานการณ์ค่าเงินเยนในปัจจุบัน และหากใช้ช่วงเวลาเดียวกัน โดยเปลี่ยนเป็นคู่ประเทศระหว่าง สหรัฐฯ และไทย จะพบว่าทิศทางค่าเงินบาทค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกับเยนเช่นเดียวกัน คือ ค่าเงินจะอ่อนค่าล่วงหน้าก่อนที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่าง 2 ประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

ดังนั้นผลจากการศึกษาช่วงเวลาที่เงินเยนอ่อนค่าแรง พบว่า 2 ช่วงเวลาดังกล่าว SET ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.88%

กลุ่มที่ Outperform คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากกำลังซื้อต่างประเทศสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล (+35.94%), กลุ่มชิ่นส่วนฯ (+21.54%), กลุ่มอาหาร (+11.22%), กลุ่มท่องเที่ยว (+8.91%) และกลุ่มค้ำปลีก (+6.77%) ทั้งนี้ คาดว่าอีกส่วนหนึ่งน่าจะได้ผลประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าในช่วงดังกล่าวเช่นกัน

กลุ่มที่ Underperform คือ กลุ่มที่มีหุ้นที่มีรายได้เป็นเงินเยน (MCS) โดยช่วงดังกล่าว กลุ่มเหล็ก (-27.46%) รวมถึงกลุ่มที่ได้รับจิตวิทยาลบ อาทิ นิคมฯ กลุ่มอสังหาฯ (-7.83%),กลุ่มยานยนต์ (-18.18%)

อย่างไรก็ตามสำหรับกลยุทธ์ โดยประเมินหุ้น Best Picks ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวข้างต้น ประกอบด้วยกลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มอาหาร และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์  ได้แก่ KCE, SAPPE, CPALL, BDMS และ BCH ขณะที่เก็งกำไร AOT, BH

บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)  หรือ KCE แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 74 บาท  ซึ่งราคาหุ้นตอบรับ Sentiment ลบผลกระทบ Lockdown ในประเทศจีน และปัจจัยลบปัญหาเครื่องจักรใหม่โดยสถานการณ์กลับมาปกติแล้ว ซึ่งหากได้อานิสงส์เงินบาทอ่อนค่าช่วยเสริม คาดจะเป็นแรงส่งการฟื้นตัวเด่นขึ้น และอาจจะเปิด Upside ประมาณการปี 2565 คาดกำไรโต 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน)  หรือ SAPPE แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 34 บาท เนื่องจากแรงกดดันต้นทุนบรรจุภัณฑ์ (25% ของต้นทุน) ลดลง หลังจากราคาน้ำมันผ่านจุดสูงสุด และกลับมาปรับฐานอยู่ในระดับราว 100 เหรียญฯ +/- การขยายตลาดต่างประเทศใหม่ๆ หนุนเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางที่น่าจะโดดเด่น จาก Wealth สูงขึ้น ขณะที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าต่อรายได้ส่งออกต่างประเทศราว 50-60% ของรายได้จากการขาย ซึ่งอาจสร้าง Upside ต่อประมาณการปี 2565 คาดโต 18% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 29.30 บาท โดยคาดว่าจะได้ประโยชน์จากกำลังซื้อลูกค้าต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น หนุนการฟื้นตัวของลูกค้ากลุ่ม Fly-in เติบโต 15%ของรายได้ภาวะปกติ คาดช่วยรักษาโมเมนตัมกำไรระดับสูงหลังผ่านช่วงได้ประโยชน์ตรวจและรักษาโควิด-19 ได้ต่อเนื่อง และอาจเห็น Earnings Upgrade Cycle ต่อเนื่องจากปัจจุบันที่ตลาดเพิ่งทยอยปรับเพิ่มกำไรจากอานิสงส์โควิด-19

บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)  หรือ BCH แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 24.20 บาท โดยคาดว่าจะได้ประโยชน์จากกำลังซื้อลูกค้าต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น หนุนการฟื้นตัวของลูกค้ากลุ่ม Fly-in (11% ของรายได้ภาวะปกติ) คาดช่วยรักษาโมเมนตัมกำไรระดับสูงหลังผ่านช่วงได้ประโยชน์ตรวจและรักษาโควิด-19 ได้ต่อเนื่อง และ อาจเห็น Earnings Upgrade Cycle ต่อเนื่องจากปัจจุบันที่ตลาดเพิ่งทยอยปรับเพิ่มกำไรจากอานิสงส์โควิด-19 และเป็นตัวช่วย ให้ระดับการลดลงของกำไรที่น้อยกว่าที่ตลาดกังวล โดยยังไม่รวมถึงแผนการทำตลาดลูกค้ากลุ่ม Middle-East เพิ่มเติม จากจุดเด่นความเชี่ยวชาญรักษาโรคเบาหวานที่ รพ.

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  หรือ CPALL  แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 72 บาท ซึ่งได้ประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น หนุนทิศทางยอดขายสาขาเดิมจะกลับมาเติบโต เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนได้ทุก format เด่นสุดคือร้านสะดวกซื้อโต 10% จากโต 1.3% ในไตรมาส 4/2564 ตามด้วย Lotus’s ที่โต 1% จากไตรมาส 4/2564 ที่ 6.3%

ขณะที่แนวโน้มผี 2565 จากภาวะท่องเที่ยวที่จะมีแรงเสริมจากอานิสงส์การท่องเที่ยวที่มีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าคาดจากแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ส่วนนับจากครึ่งหลังปี 2565 คาดจะเห็น synergy จากการควบรวมกิจการระหว่าง MAKRO และ โลตัสส์มาก หนุนภาพรวมกำไรปกติปี 2565 ที่ 1.79 หมื่นล้านบาท โตโดดเด่น 106% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 22 60 บาท  และประเมินราคาเป้าหมายปี 2566 อยู่ที่ 23 67 บาท โดยคาดว่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากกำลังซื้อต่างประเทศที่จะสูงขึ้น โดยนักท่องเที่ยวสหรัฐฯมีสัดส่วน ช่วยเพิ่มโมเมนตัมในการฟื้นตัวของผู้ใช้บริการเสริมจากกรณีที่รัฐฯ มีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย และมีโอกาสเป็นประเด็นขับเคลื่อนปริมาณการใช้สนามบินที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าสมมติฐานที่บัญชีปี 2565 (สิ้นสุดเดือนก.ย. ปี 2565) ที่ CNS ใช้อยู่ที่ 45 ล้านคน (32% ของปีบัญชี 19 ที่เป็นช่วงก่อน COVID) ซึ่งอาจสร้างช่วยการฟื้นตัวผลประกอบการ 225 ดีกว่าที่คาดจะขาดทุนราว 9.9 พันล้านบาท

บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 150 บาท โดยคาดว่าจะได้ประโยชน์จากกำลังซื้อลูกค้าต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น หนุนการฟื้นตัวของลูกค้ากลุ่ม Fly-in (23% ของ รายได้ภาวะปกติ) คาดช่วยรักษาโมเมนตัมกำไรระดับสูงหลังผ่านช่วงได้ประโยชน์ตรวจและรักษา COVID ได้ต่อเนื่อง และอาจเห็น Earnings Upgrade Cycle เป็นบริษัทแรกๆ ของกลุ่มบนอิ่มดังกล่าว

นอกจากนี้หุ้นอื่นๆที่น่าสนใจนอกเหนือจากในธีมดังกล่าวข้างต้น จะอยู่ในกลุ่มได้ประโยชน์จากส่งออกอื่นๆ อาทิ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน)  หรือ SNC แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 20.10 บาท ส่วนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อาทิ บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 9.20 บาท , บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 45 บาท และบริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 11.50 บาท

Back to top button