ซาอุฯ ขึ้นราคาน้ำมันดิบขาย “เอเชีย” อีก 2 เหรียญ ส่อกระทบตลาดโลก

ซาอุดีอาระเบีย ปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบชนิดเบา ส่งขายในตลาดเอเชียเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 6.50 ดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.10 ดอลลาร์ สะเทือนน้ำมันดิบตลาดโลกเปิดเช้าพุ่งเกิน 121 ดอลลาร์/บาร์เรล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าในเอเชียที่สิงคโปร์ (6 มิ.ย. 2565) เมื่อเวลา 10.40 น. (เวลาไทย) ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐเคลื่อนไหวที่ 120.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +1.63 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +1.4% สอดคล้องกับ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ เคลื่อนไหวที่ 121.52 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +1.80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +1.5%

โดยปัจจัยสำคัญจาก ซาอุดิอารามโก รัฐวิสาหกิจพลังงานของประเทศซาอุดีอาระเบียประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบชนิดเบา หรือ Arab Light crude oil ซึ่งส่งขายในตลาดเอเชียในเดือนกรกฎาคมมาอยู่ที่ 6.50 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 2.10 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิงทั้งโอมาน และดูไบที่ 4.40 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ ยังปรับเพิ่มราคาน้ำมันดิบชนิดเบา หรือ Arab Light crude oil ซึ่งส่งขายในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปในเดือนกรกฎาคมมาอยู่ที่ 4.30 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 2.10 ดอลลาร์สหรัฐจากราคาเปรียบเทียบในเดือนมิถุนายน การปรับขึ้นราคาขายในครั้งนี้สะท้อนภาวะตลาดน้ำมันดิบโลกยังคงตึงตัวจากสถานการณ์สงครามรัสเซียกับยูเครน

ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 118.67 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +1.80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +1.5% มีราคาปิดสูงสุดในรอบ 2 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2551 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 119.41 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +1.80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +1.5% มีราคาสูงใกล้เคียงสถิติราคาปิดสูงสุดในรอบ 2 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ทั้งนี้สาเหตุจากกลุ่มโอเปกพลัสมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม เป็นเดือนละ 648,000 บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้นั้น แทบจะไม่มีผลทำให้สภาพน้ำมันดิบตึงตัวผ่อนคลายลงแต่อย่างใด นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางการเมืองเซี่ยงไฮ้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้มานานถึง 2 เดือน เพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงกลุ่มสหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรน้ำมันดิบจากรัสเซียอย่างเป็นทางการ โดยลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบมากถึง 90% จากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้

Back to top button