รวม 13 หุ้น “ไอพีโอ” ครึ่งปีแรก KCC ทะยานแรง 100% ฟาก BIS-PLUS ควงแขนพุ่ง 40%

รวม 13 หุ้น "ไอพีโอ" ครึ่งปีแรก KCC ทะยานแรง 100% ฟาก BIS-PLUS ควงแขนพุ่ง 40% ส่วน BBGI-STP ปรับตัวลงหนักสุดต่ำราคาจอง


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหุ้น “ไอพีโอ” ที่เข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.65 – 24 มิ.ย.65) พบว่ามีหุ้นไอพีโอรวมทั้งสิ้น 13 หลักทรัพย์ แบ่งเป็นหุ้นเข้าตลาด SET จำนวน 8 หลักทรัพย์ และเข้าตลาด mai จำนวน 5 ตัว ตามตารางดังนี้

โดยหุ้นไอพีโอในตลาด SET ที่ทำผลงานได้ดีสุดได้แก่ บริษัท โรแยล พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ PLUS ปรับตัวขึ้นกว่า 44% มาที่ระดับ 6.50 บาท จากราคาไอพีโอที่ระดับ 4.50 บาท ขณะที่หุ้นไอพีโอในตลาด mai ที่ทำผลงานได้ดีสุดได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ KCC อยู่ที่ระดับ 7.50 บาท ปรับตัวขึ้นกว่า 102% จากราคาไอพีโอที่ระดับ 3.70 บาท

ส่วนหุ้นไอพีโอในตลาด SET ที่ทำผลงานได้แย่สุด หรือปรับตัวลดลงมากสุดได้แก่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ลดลงกว่า 25% มาที่ระดับ 7.85 บาท เทียบกับราคาไอพีโอที่ระดับ 10.50 บาท ขณะที่หุ้นไอพีโอในตลาด mai ที่ปรับตัวลดลงมากสุดได้แก่ บริษัท สหไทยการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ STP ปรับตัวลดลงกว่า 10% มาที่ระดับ 16.10 บาท จากราคาไอพีโอที่ระดับ 18 บาท

ด้าน นายพลแสง แซ่เบ๊ กรรมการผู้อำนวยการ PLUS เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/65 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก เนื่องจากเป็นช่วงของไฮซีซั่น และยังได้รับปัจจัยบวกจากค่าขนส่งหรือค่าระวางเรือที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ลูกค้าสหรัฐอเมริกาตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าได้ง่ายและเร็วขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาที่ราว 35 บาท/ดอลลาร์ ก็ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานด้วย เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนส่งออกคิดเป็น 98-99%

ขณะที่ทั้งปี 65 บริษัทยังมั่นใจว่ารายได้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 50% จากปีก่อน หลังไตรมาส 1/65 เติบโตเกินเป้าไปแล้ว หรือมีรายได้ราว 390.2 ล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 2/65 น่าจะทำได้ตามเป้า โดยเตรียมออกสินค้าใหม่ในกลุ่มแพลนต์เบสด์ (Plant-based) จำนวน 2 รายการ คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ในไตรมาส 2/65 และจะรับรู้ยอดขายเข้ามาในไตรมาส 3/65

ส่วนกลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาร์จิ้นสูง ซึ่งจะเป็นสินค้าในกลุ่มแบรนด์ของบริษัทเอง (Own Brand) โดยตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 30% ซึ่งจะเร่งสร้างแบรนด์ผ่านช่องทางออนไลน์และการออกบูธแสดงสินค้า รวมถึงมุ่งเน้นการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) การปฏิบัติการและการบำรุงรักษาระบบให้กับโรงงาน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ขนาดการติดตั้ง 984.96 กิโลวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในกิจการ และสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ และน่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าลง 30%

ด้านนายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KCC เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจ AMC ในไตรมาส 2 และตลอดทั้งปี 2565 ยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัทจะดำเนินการจัดซื้อหนี้ NPLs จากสถาบันการเงินได้เสร็จสิ้น โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ภายหลังจากบริษัทได้เงินจากการระดมทุน ด้วยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) จำนวน 592 ล้านบาทและจากการเสนอขายหุ้นกู้ มูลค่า 350 ล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาในมือ เกือบ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย เพื่อขยายพอร์ตลูกหนี้ NPLs ของบริษัท ส่งผลให้เงินลงทุนหรือพอร์ตลูกหนี้ NPLs จะเติบโตขึ้นเกือบเท่าตัวจากสิ้นไตรมาส 1 ปี 65 ที่พอร์ตลูกหนี้ NPLs อยู่ที่ 527.40 ล้านบาท

โดยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ บริษัทยังคงมีแผนเดินหน้าซื้อหนี้ NPLs เข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าใช้เงินลงทุนซื้อหนี้ NPLs มากกว่า 800 ล้านบาท แม้เป้าหมายกำหนดไว้ว่าสิ้นปี 67 พอร์ตลูกหนี้ของบริษัทจะขยับขึ้นไปอยู่ในระดับที่มากกว่า 2,100 ล้านบาท แต่หากเห็นโอกาสทางธุรกิจเข้ามา บริษัทก็พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

นายทวี กล่าวว่า เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ สถาบันการเงินจะยังคงนำลูกหนี้ NPLs ในระบบที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูงออกมาประมูลขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวเลขล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าสถาบันการเงินทั้งระบบมี NPLs ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 65 อยู่ที่ 531,890 ล้านบาท จึงเป็นโอกาสของธุรกิจบริหารจัดการหนี้ NPLs และธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่ยังคงมี supply หรือปริมาณหนี้ NPLs จากระบบสถาบันการเงินมาให้บริหารจัดการได้อีกมหาศาล

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพอร์ตลงทุน หรือพอร์ตลูกหนี้ NPLs ของบริษัท ทำให้ธุรกิจ AMC ของบริษัทยังคงมีทิศทางหรือแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก โดยเป้าหมายของบริษัทยังคงเน้นหนี้ NPLs ภาคธุรกิจ หรือ Corporate Loans ในสัดส่วน 70% และหนี้ NPLs สินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Housing Loans ในสัดส่วน 30% โดยพิจารณาหลักประกันที่มีคุณภาพและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัทในการพิจารณาเลือกซื้อหนี้และการบริหารจัดการหนี้ NPLs ที่เน้นหนี้ภาคธุรกิจ หรือ Corporate Loans หากเห็นโอกาสทางธุรกิจ หรือมีหนี้ NPLs ที่สามารถบริหารจัดการและสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ บริษัทก็พร้อมเข้าไปจัดหา เพื่อนำมาบริหารจัดการ เพราะนอกจากมีเงินทุนที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอและออกหุ้นกู้แล้ว บริษัทยังสามารถเพิ่มการกู้ยืมเงินได้อีกมาก

เพราะปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทหลังไอพีโออยู่ในอัตราต่ำเพียง 0.58 เท่า เท่านั้น ทำให้ยังสามารถกู้เงินมาขยายพอร์ตได้อีกมากและการเข้าเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัททำได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้ามีอัตราส่วน D/E ได้สูงสุดไม่เกิน 2 เท่าและขณะนี้มีสถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนเงินกู้เพื่อให้บริษัทนำมาซื้อหนี้ NPLs ขยายธุรกิจ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่พอร์ตลงทุนหรือพอร์ตลูกหนี้ NPLs จะโตทะลุ 2,100 ล้านบาท ได้ก่อนเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 67″ นายทวี กล่าว

นายทวี กล่าวอีกว่า หลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด -19 อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ ส่งผลให้ลูกหนี้ของบริษัทกลับมาเดินหน้าดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัทได้มากขึ้น โดยกลับมาชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามแผน หลังจากในช่วงปี 2564 ลูกหนี้บางราย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ล็อคดาวน์ได้ขอหยุดชำระเงินต้น

โดยแบ่งผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จึงกลับมาดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ได้ ส่งผลให้บริษัทสามารถเก็บเงิน หรือมีเงินสดรับ (Cash Collection) เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีลูกหนี้บางรายสามารถฟื้นฟูกิจการสำเร็จ กลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ทั้งหมดและปิดบัญชีลูกหนี้กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปลดล็อคการเป็นลูกหนี้ NPLs เข้าสู่ระบบสินเชื่อ ของสถาบันการเงินได้ตามปกติ ซึ่งถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จในการช่วยฟื้นฟูกิจการ บริหารจัดการหนี้ ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหากลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

Back to top button