“หุ้นเอเชีย” เปิดลบ ตามดาวโจนส์ นลท. วิตก เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย

“ตลาดหุ้นเอเชีย” เปิดลบตามดาวโจนส์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดวันนี้ร่วงลงตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดลบในวันอังคาร (5 ก.ค.65) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 26,190.40 จุด ลดลง 233.07 จุด หรือ -0.88%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,777.64 จุด ลดลง 75.43 จุด หรือ -0.35% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,391.03 จุด ลดลง 13.00 จุด หรือ -0.38%

ขณะที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.0%

สำหรับตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 2 รุนแรงกว่าไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% และแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทั้งนี้ เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 7 ก.ค.65

ด้านนายเฟลิเป เมดาลลา ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) เปิดเผยในวันนี้ว่า BSP อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1% ในปีนี้ หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.ของฟิลิปปินส์พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี เนื่องจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี และกระตุ้นให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก และอาจจะใช้มาตรการที่แข็งกร้าวมากขึ้นในการสกัดเงินเฟ้อ

โดยทางด้านธนาคารกลางมาเลเซียมีกำหนดเปิดเผยแถลงการณ์นโยบายการเงินในวันนี้ โดยผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า แบงก์ชาติมาเลเซียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%

ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดประจำวันที่ 14-15 มิ.ย.ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นเพียง 250,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าระดับ 390,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานเดือนมิ.ย.จะทรงตัวที่ระดับ 3.6%

Back to top button