ไม่แทรกแซง! ธปท.ปล่อย “เงินบาท” เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด

ธปท. ยืนยันไม่เข้าไปแทรกแซง “เงินบาท” ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่หากเงินบาทผันผวนผิดปกติจะเข้าไปดูแล พร้อมแนะผู้ประกอบการ เร่งป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน


นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ชี้แจงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเงินบาทว่าที่ผ่านมาค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยเฉพาะ 1-2 วันที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จากความกังวลจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้สกุลเงินดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าแข็งค่าขึ้นมา 11.3%  ส่งผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆปรับตัวอ่อนค่าลง

ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า 7.6% ถือว่ายังเกาะกลุ่มกับประเทศในภูมิภาค เช่นเดียวกับความผันผวนของเงินบาทที่ยังสอดคล้องภูมิภาคที่ระดับ 6.8% ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญของไทย พบว่าอ่อนค่าขึ้นมา 1.5% ซี่งเป็นการอ่อนค่าตามค่าเงินในภูมิภาค

หากดูเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาตในตลาดการเงิน ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 5 กรกฎาคม 2565 พบว่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ยังซื้อสุทธิที่ 9.7 หมื่นล้านบาท โดยตลาดหุ้นยังบวก 1.04 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดบอนด์ มีแรงขายสุทธิที่ 7 พันล้านบาท ทำให้ ธปท.ยังไม่เห็นเรื่อง Outflow

ดังนั้นการดูแล “เงินบาท” ของ ธปท. จะปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหลตามกลไกตลาด แต่หากมีความผันผวนในตลาดที่มากเกินไป ธปท.ถึงเข้าไปดูแล แต่จะไม่แทรกแซงจากราคา หรือทิศทางของเงินบาท เพราะการคาดการณ์เงินบาทว่าควรอยู่ที่ระดับไหนเป็นเรื่องที่ยาก และการเข้าไปแทรกแซง อาจเป็นการสะสมความเสี่ยงที่ไม่ยั่งยืนระยะยาวได้

นอกจากนี้ หากทุกคนมองว่า ทิศทางเงินบาทในระยะข้างหน้าจะยิ่งอ่อนค่า ดังนั้น สิ่งสำคัญผู้ประกอบการจำเป็นที่ต้องเข้าไปป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อธุรกิจในระยะข้างหน้า

 

Back to top button