TK ค่าใช้จ่ายเพิ่ม! กดกำไรไตรมาส 2 เหลือ 117 ล้าน

TK ค่าใช้จ่ายบริหารเพิ่ม! กดกำไรไตรมาส 2 ลดเหลือ 117 ล้าน จากช่วงเดียวกันปีก่อน 118 ล้าน ฟากงวด 6 เดือนกำไร 252 ล้าน โต 17% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 215 ล้านบาท


บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565

โดยผลการดำเนินงานมีกำไรลดลงเนื่องจากรายได้รวมไตรมาส 2 ปี 2565 จำนวน 492.2 ล้านบาท ลดลง 1.5% จาก 499.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ส่วนรายได้เช่าซื้อไตรมาส 2 / 2565 จำนวน 364.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จาก 345.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีนโยบายเพิ่มยอดปล่อยสินเชื่อในปีที่ผ่านมา

ส่วนรายได้อื่นๆ ไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่  122.3 ล้านบาท ลดลง 9.3% จาก 134.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยหนี้สูญรับคืนได้รับชำระลดลง จากสัดส่วน การดัดหนี้สูญที่ลดลง เนื่องจากคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นและรายได้ค่าติดตามทวงถามที่ลดลงจาก พรบ.ติดตามทวงถามหนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564

ด้านค่าใช้จ่ายรวมไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่จำนวน 348.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จาก 336.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายในการบริหารรวมไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่จำนวน 268.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% จาก246.7ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2565 บริษัทมีรายได้ครึ่งแรกของปี 2565 รวม 985.5 ล้านบาท ลดลง 5.1% จาก 1,038.3 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 252.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.0% จาก 215.9 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนช่วงเวลาเดียวกัน มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 4,405.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.6% จาก 3,949.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 โดยในไตรมาส 2/2565 มีกำไรสุทธิ 117.5 ล้านบาท ลดลง 0.7% จาก 118.4 ล้านบาท รายได้รวม 492.2 ล้านบาท ลดลง 1.5% จาก 499.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน

สำหรับเศรษฐกิจในประเทศภาพรวมปี 2565 นี้ มีทั้งปัจจัยบวกที่จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมมีคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.7-3.5% นับเป็นอัตราเติบโตที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ยังคงมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต้านการเติบโตดังกล่าว

โดยเฉพาะ 4 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกับคุณภาพลูกหนี้เช่าซื้อ คือ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เงินเฟ้อทำให้รายจ่ายสูงขึ้นมากโดยเฉพาะคนรายได้น้อยที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นกับค่าอาหารและค่าเดินทางจากค่าน้ำมันที่ราคาแพงขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายจ่าย และดอกเบี้ยที่กำลังจะปรับตัวขึ้นส่งผลโดยตรงกับเงินกู้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคงที่ จากการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดเช่าซื้อดังกล่าว บริษัทปรับเป้าขยายพอร์ตเป็นเติบโต 20% ภายในสิ้นปี 2565 นี้

นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ TK กล่าวว่า เศรษฐกิจในประเทศยังมีปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีกับการขยายพอร์ตสินเชื่อในปี 2565 ทั้งจาก GDP ที่กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น ไตรมาสที่ 1/2565 เติบโต 2.2% การส่งออกขยายตัวได้ดีและคาดว่าจะมีการขยายตัว 8% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เฉพาะครึ่งแรกของปี 2565 มูลค่าการส่งออกเติบโต 23.1% หรือ 4.9 ล้านล้านบาท การท่องเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้น โดยการท่องเที่ยงแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าปี 2565 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ สินค้าเกษตรปีนี้ผลผลิตมีราคาดี และตลาดรถจักรยานยนต์เติบโตต่อเนื่อง ทั้งมีการอนุมัติเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกัน จึงมั่นใจได้ว่าพอร์ตเช่าชื้อ TK จะยังคงเติบโตตามเป้า

โดยตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย มียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ไตรมาส 2/2565 จำนวน 460,977 คัน เพิ่มขึ้น 5.3% จาก 437,826 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ครึ่งแรกปี 2565 จำนวน 910,716 คัน เพิ่มขึ้น 4.2% จาก 874,041 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หลังจากที่มียอดจำหน่ายลดลง 3 ปีต่อเนื่อง และเริ่มมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นในปีก่อน ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ ไตรมาส 2/2565 จำนวน 196,114 คัน เพิ่มขึ้น 9.5.% จาก 179,054 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายรถยนต์ครึ่งแรกปี 2565 จำนวน 427,303. คัน เพิ่มขึ้น 14.5% จาก 373,191 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หลังจากที่มียอดจำหน่ายลดลง 3 ปีต่อเนื่อง

โดยการขยายพอร์ตเช่าซื้อให้เติบโตเป็นเป้าหมาย แต่กลยุทธ์ในการขยายพอร์ตดังกล่าวจะต้องมีความยั่งยืน ดังนั้นการติดตามสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดรับจึงเป็นเรื่องที่ TK ให้ความสำคัญ การขยายพอร์ตตามแผนของเราจะมาจากธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศซึ่งเป็นรายได้หลัก

“นอกจากนี้ จะมาจากธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ นาโนไฟแนนซ์ ซึ่งปัจจุบันให้บริการกับลูกค้าปัจจุบันของ TK เป็นหลัก และกำลังเตรียมความพร้อมในการให้บริการสินเชื่อใหม่ที่ บริษัท ทีเค เงินทันใจ จำกัด บริษัทย่อยที่ได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติมให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ คือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น โดยวางแผนที่จะเริ่มให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเร็วๆ นี้” นายประพล กล่าว

อนึ่ง ณ ไตรมาส 2/2565 TK มีสำรองลูกหนี้จำนวน 322.2 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 5.8% และมี Coverage Ratio ที่ 118.0% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 371.6 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 7.1% และมี Coverage Ratio ที่ 120.5.% ณ ไตรมาส 2/2565 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 6,967.6 ล้านบาท ลดลง 0.2% จาก 6,979.0 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 1,288.5 ล้านบาท ลดลง 2.5% จาก 1,322.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ทั้งนี้ D/E ณ ไตรมาส 2/2565  อยู่ที่ 0.23 เท่า เท่ากับสิ้นปี 2564 โดยมีเงินสด 2,105.0 ล้านบาท สำหรับใช้ขยายพอร์ตเช่าซื้อและสินเชื่อโดยไม่มีต้นทุนทางการเงินให้เติบโต 20% ตามแผนได้อย่างน้อย 12-18 เดือน

Back to top button