4 โบรกฟังธง TISCO กวาดกำไร Q3 ทะลุ 1.8 พันลบ. รายได้ดอกเบี้ยพุ่ง-ตั้งสำรองลด

4 โบรกประเมิน TISCO กวาดกำไรไตรมาส 3/65 ทะลุ 1.8 พันลบ. โต 16% รับรายได้ดอกเบี้ยพุ่ง หลังสินเชื่อขยายตัว-ตั้งสำรองหนี้ลดลง ประสานเสียงเชียร์ “ซื้อ” เป้าสูง 120 บ.


ใกล้เข้าสู่ช่วงของการรายงานงบการเงินสำหรับงวดผลการดำเนินงานไตรมาส 3/65 (ก.ค.-ก.ย.65) และงวด 9 เดือนปี 65 (ม.ค.-ก.ย.65) โดยบริษัทในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์จะรายงานตัวเลขกำไรออกมาเป็นกลุ่มแรก ดังนั้น “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการสำรวจแนวโน้มกำไรในช่วงดังกล่าวของบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะรายงานผลการดำเนินงานออกมาในวันที่ 12 ต.ค.65

โดยบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ คาดการณ์ TISCO รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/65 ในวันที่ 12 ต.ค.65 โดยมีมุมมอง Slightly Positive ต่อผลประกอบการไตรมาส 3/65 จากคาดเห็นการเติบโตของสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 3.5%  เมื่อเทียบจากปีก่อน และ 4% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน ผลักดันหลักจากสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อ SME โดยกำไรสุทธิไตรมาส 3/65 คาดที่ 1.81 พันล้านบาท เติบโต 16% เมื่อเทียบจากปีก่อน เพราะค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL) ลดลง จากธนาคารตั้งล่วงหน้าไปมากแล้ว และรับรู้กำไรเงินลงทุน (FVTPL)

ขณะที่กำไรสุทธิลดลง 2% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งคำใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL) ด้าน NPL Ratio คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนที่ 2.30% และ Coverage Ratio 242% หากกำไรสุทธิไตรมาส 3/65 เป็นไปตามที่คาด กำไรสุทธิปี 65-66 มีโอกาสเกิด upside จากค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) น้อยกว่าคาด

ทั้งนี้ในเบื้องต้นประเมิน credit cost ปี 66-65 ที่ลดลงทุกๆ -10 bps. ทำให้กำไรสุทธิปี 65 คาดอยู่ที่ 6.87 พันล้านบาท และกำไรสุทธิปี 66 คาดที่ 7.10 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นปีละ 2% ส่งผลต่อราคาเป้าหมายปี 66 เพิ่มขึ้น 1 บาท โดย TISCO มีจุดเด่นเรื่องคุณภาพสินทรัพย์และความเพียงพอูของสำรอง นอกจากนั้นปันผลปี 65 คาดที่ 6.86 บาท คิดเป็น dividend yield ที่ 7.2% ดังนั้นคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 120 บาท

ส่วนบล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ คาดกำไร TISCO ไตรมาส 3/65 ที่ 1.78 พันล้านบาท อ่อนตัวเล็กน้อย 3% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน แต่ยังเติบโต 14% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยคาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น 2% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการที่สินเชื่อเติบโตได้ดีถึง 5.5% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน หลังแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น ด้าน NIM คาดทรงตัวแม้ว่าต้นทุนทางการเงินจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ Yield โดยรวมอาจดีขึ้นเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อช่วยชดเชยได้

รวมทั้งคาดรายได้ค่าธรรมเนียมดีขึ้นเล็กน้อยราว 2% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน โดยหลักเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อ ซึ่งช่วยชดเชยค่าธรรมเนียมธุรกิจตลาดทุนที่อาจอ่อนตัวลงตามภาวะตลาด ขณะที่คาดกาไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนจะลดลงค่อนข้างมากทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยโดยรวมจะอ่อนตัวลงราว 5% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และคาดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้อยู่ที่ 147 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 42% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/65 เป็นการเพิ่มขึ้นตามสินเชื่อที่ขยายตัว ขณะที่แนวโน้มคุณภาพหนี้โดยรวมคาดค่อนข้างทรงตัว ปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 110 บาท ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”

ขณะเดียวกันบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” หุ้น TISCO ปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 107 บาท คาดไตรมาส 3/65 กำไร TISCO จะอยู่ที่ 1.83 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.5% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบจากปีก่อน เนื่องจากสินเชื่อที่ฟื้นตัวจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่ากำไรจากเงินลงทุนจะไม่สูงเท่ากับโตรมาสก่อน รวมไปถึงการตั้งสำรองจะยังสูงอยู่ทำให้กำไรลดลงเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/64 การตั้งสำรองน่าจะลดลงมากหลังจาก TISCO เป็นธนาคารที่มีสัดส่วนสำรองต่อ NPL สูงที่สุดในระบบ เมื่อรวมกับรายได้ดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามสินเชื่อ ทำให้คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นในเดือน ส.ค. สินเชื่อของ TISCO เติบโตถึง 3.4% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อ SME เป็นหลัก และน่าจะทำให้สินเชื่อไตรมาส 3/65 เติบโตสูงที่สุดในรอบปี โดยไตรมาส 1/65 สินเชื่อของ TISCO เติบโตเพียง 0.15% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และกลับมาหดตัว 0.16% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนในไตรมาส 2/65

พร้อมทั้งบล.ดาโอ (ประเทศไทย) ยังคงคาแนะนำ “ถือ” และราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 100 บาท อิง PBV ปี 65 ที่ 1.90 เท่า ประมาณการกำไรสุทธิในไตรมาส 3/65 ที่ 1.79 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบจากปีก่อน แต่ลดลง 3% เมื่อเทียบจากไตรมาส โดยการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน เพราะมีการตั้งสำรองที่ลดลงมาก ขณะที่ลดลงเมื่อเทียบจากไตรมาส เนื่องจากกาไรจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง ด้าน NIM เริ่มหดตัวลงอยู่ที่ 5% จากไตรมาส 2/65 ที่ 5.06% เพราะเร่งหาเงินฝากประจาเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วน NPLs จะทรงตัวที่ 2.20% ในไตรมาสก่อน จากฐานสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น

Back to top button