รัฐเว้น “Capital Gains Tax” 12 กลุ่มสตาร์อัพ 10 ปี กระตุ้นเงินลงทุนปี 69 เพิ่ม 3 แสนล.

“รัฐบาล” มติอนุมัติยกเว้นภาษี “Capital Gain Tax” เป็นเวลา 10 ปี ให้แก่ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายธุรกิจสตาร์อัพ หวังเสริมสร้างการลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศ กระตุ้นเงินลงทุนสตาร์ทอัพปี 69 เพิ่มขึ้นกว่า 320,000 ลบ.


นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐบาล มีนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วในเรื่องมาตรการยกเว้นภาษี หรือ Capital Gain Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม S-Curve ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวม 2 อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาคือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา ผ่าน Venture Capital โดยต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือน เพื่อเสริมสร้างการลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

โดยขณะนี้พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 750) พ.ศ. 2565 (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 ซึ่งการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษี Capital Gain Tax จะทำให้การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะไม่ต้องเสียภาษีเหมือนในอดีต ที่นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ลงทุนในบริษัท ห้างหุ้นส่วนต่าง ๆ เมื่อมีการขายหุ้นแล้วหุ้นมีกำไรก็ต้องมีการเสียภาษี Capital Gain 15% ทำให้หนีไปลงทุนที่ต่างประเทศแทน อีกทั้งการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษี Capital Gain Tax  ยังส่งผลดีต่อสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ซึ่งนักลงทุนก็จะมาตั้งกองทุนที่เรียกว่า Venture Capital หรือ VC เป็นธุรกิจร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะเป็นธุรกิจสำคัญที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax เป็นการบูณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น เสริมสร้างการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“จากการประเมินของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่ามาตรการ Capital Gains Tax จะกระตุ้นทำให้ไทยมีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพภายในปี 2569 เพิ่มขึ้นกว่า 320,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 400,000 ตำแหน่ง รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจประเทศ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 790,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax” นายอนุชา กล่าว

Back to top button