CWT จ่อปิดดีลซื้อ “ไออีซี สระแก้ว 1” ม.ค.นี้ บุ๊กรายได้ทันที 300 ลบ./ปี

CWT ส่งยานลูก CWTG เข้าลงทุน “ไออีซี สระแก้ว 1” โรงไฟฟ้าชีวมวล 9.6 MW พร้อมที่ดิน 60 ไร่ มูลค่ารวม 237.94 ลบ. คาดปิดดีลภายในม.ค.นี้ รับรู้รายได้ทันที สอดรับกลยุทธ์ตุน PPA มากกว่า 50 MW ภายในปี 66 เพื่อเตรียม Spin Off ธุรกิจพลังงาน มุ่งสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป


นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2566 มีมติอนุมัติให้บริษัท ชัยวัฒนา กรีน จำกัด (CWTG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจลงทุนในกลุ่มพลังงาน เข้าลงทุนในบริษัท ไออีซี สระแก้ว 1 จำกัด (SK1) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ด้วยการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ SK1 จากบริษัท อินเตอร์แนชั่นแนลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC มูลค่า 227,940,000 บาท พร้อมที่ดิน 60 ไร่ 116 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว มูลค่า 10,000,000 บาท รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 237,940,000 บาท

ทั้งนี้ SK1 ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในอำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ผ่านโครงการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Feed-in Tariff) ที่จำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูงสุด 8.0 เมกะวัตต์ (MW) ขนาดกำลังการผลิต 9.6 เมกะวัตต์ (MW)

“คาดว่าจะสามารถทำรายการแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมปี 2566 นี้ โดยภายหลังทำรายการแล้วเสร็จจะส่งผลทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันทีประมาณ 300 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ SK1 ยังตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงไฟฟ้าเดิมของกลุ่ม CWTG อีกด้วย ทำให้เกิดการบริหารจัดการร่วมกันและส่งผลให้เกิดประสิทธิผลทั้งทางด้านการบริหารต้นทุน และการผลิต สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับกลุ่ม CWT ได้อย่างดี” นายวีระพล กล่าวว่า

สำหรับการเข้าลงทุนใน SK1 ในครั้งนี้ เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของกลุ่มบริษัทในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและรายได้จากการผลิตและขายไฟฟ้า จากการตั้งเป้าหมายเพิ่มสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในมือ มากกว่า 50 MW ภายในปี 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการ Spin Off ธุรกิจพลังงานเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินธุรกิจในปี 2566 คาดว่าจะสามารถเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากธุรกิจเบาะหนังบริษัทฯ มีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง และมีแผนการส่งมอบงานอย่างชัดเจน ขณะที่มีรายได้จากธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ส่วนธุรกิจ SKC มีแผนการส่งมอบงานตามกำหนดเช่นกัน ทำให้บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าผลงานในปีนี้จะสามารถสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจากปีก่อน

อนึ่งปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าที่ขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ รูปแบบโรงไฟฟ้าชีวมวล ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว และมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาคือ โรงคัดแยกขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF อยู่ระหว่างพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้า ปัจจุบันได้สัญญาบริหารจัดการขยะแล้ว 25 ปี และล่าสุดได้รับคัดเลือกจากการยื่นข้อเสนอการดำเนินการคัดเลือกเอกชนดำเนินการก่อสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลกมลาไสย กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาภายในเร็วๆ นี้

Back to top button