“นพ.วรงค์” จ่อฟ้องศาลปกครอง ปม “กสทช.” เปิดประมูลสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

หัวหน้าพรรคไทยภักดี เตรียมยื่นเรื่องร้องศาลปกครองและศาลอาญาทุจริต หลัง กสทช. เปิดประมูลใช้วงโคจรดาวเทียม เหตุมีผลกระทบต่อความมั่นคง


นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  จากกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เปิดการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.66 ที่่ผ่านมา โดยมีใจความเนื้อหาว่า ความผิดสำเร็จแล้ว  ความพยายามเปิดประมูล สิทธิในวงโคจรดาวเทียม ของกสทช.เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง ๆที่เป็นวันอาทิตย์ และมีประชาชน หลายภาคส่วนคัดค้าน พวกท่านก็ไม่ฟัง จนสื่อบางสำนักพาดหัวว่า ประมูลดาวเทียม “จบเร็ว” หรือ “เหงา”

ทั้งนี้ ผลการประมูลก็เป็นไปตามคาด ทุกอย่างได้บริษัทตามที่คาดหมาย แต่ที่น่าเสียดายคือ ท่านเอา บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ไปร่วมเล่นปาหี่ มาประมูลในตำแหน่งที่ไม่รู้จะได้ประโยชน์อะไร ส่วนราคาก็ตามคาดคือ ประมูลหลักร้อยล้าน ผลประโยชน์แสนล้าน

ขอย้ำว่าถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว นำไปสู่การผูกขาดกิจการดาวเทียม ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคง และธุรกิจผูกขาดของประเทศ แทนที่จะให้รัฐเป็นผู้ควบคุม กลับให้เอกชนควบคุมผูกขาดทุกอย่าง แม้แต่เรื่องความมั่นคง พวกเราและเครือข่ายประชาชน จะดำเนินการฟ้องร้อง ต่อศาลปกครอง และศาลอาญาทุจริต ขอให้เตรียมไปพบกันที่ศาลครับ

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา นพ.วรงค์  พร้อมด้วย ตัวแทนจาก สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (สร.ทช.) และพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. เรียกร้องให้รัฐบาลและ กสทช. ยกเลิกการประมูลสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมที่จะมีขึ้นวันที่ 15 ม.ค. 66 และให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

โดยหนังสือ ระบุว่า กิจการดาวเทียม หรือกิจการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ มีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ 30 ปีที่ผ่านมากิจการดาวเทียมอยู่ในเมือกลุ่มทุนเอกชนนำไปสร้างความร่ำรวย แต่มีผลประโยชน์กับรัฐไม่มาก ประชาชนต้องแบกรับค่าบริการที่แพง ซึ่งการออกประกาศหลักเกณฑ์ และการอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม ขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 56

โดยโครงสร้างของกิจการโครงสร้างพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน รัฐจะทำด้วยประการใดให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้ และมาตรา 60 รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่ และสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม อันเป็นสมบัติของชาติเพื่อเป็นประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หากเกิดปัญหาขึ้นกับกิจการอวกาศ ระหว่างอนุญาตให้เอกชนดำเนินกิจการ รัฐบาลต้องรับผิดชอบตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ควบรวมกิจการด้านสื่อสารโทรคมนาคม เป็น บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม จึงควรให้บริษัทโทรคมนาคมฯ กิจการดาวเทียมภายใต้การแข่งขันเสรี องค์กรผู้ร่วมเจตนารมณ์ตามที่ระบุไว้ จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกการประมูลสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในฐานะรัฐวิสาหกิจของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง เพื่อประโยชน์ของประชาชน

Back to top button