สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 6 ก.พ. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 6 ก.พ. 2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (3 ก.พ.) หลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดทำให้เกิดความวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุก ขณะที่นักลงทุนผิดหวังกับการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,926.01 จุด ลดลง 127.93 จุด หรือ -0.38%, ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,136.48 จุด ลดลง 43.28 จุด หรือ -1.04% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,006.96 จุด ลดลง 193.86 จุด หรือ -1.59%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันศุกร์ (3 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์และกลุ่มพลังงาน เนื่องจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปได้บดบังความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐนานกว่าคาดหลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 460.77 จุด เพิ่มขึ้น 1.57 จุด หรือ +0.34%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,233.94 จุด เพิ่มขึ้น 67.67 จุด หรือ +0.94%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,476.43 จุด ลดลง 32.76 จุด หรือ -0.21% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,901.80 จุด เพิ่มขึ้น 81.64 จุด หรือ +1.04%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันศุกร์ (3 ก.พ.) แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้น และการแข็งค่าของดอลลาร์หลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาด

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,901.80 จุด เพิ่มขึ้น 81.64 จุด หรือ +1.04% หลังแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7,906.58

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (3 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบท่ามกลางความไม่แน่ใจเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันจากจีนหลังวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ แนวโน้มที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในสหรัฐหลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดนั้น ส่งผลกดดันตลาดน้ำมันด้วย

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 2.49 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 73.39 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. และราคาร่วงลง 7.9% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 2.23 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 79.94 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. และราคาร่วงลง 7.5% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดดิ่งลงในวันศุกร์ (3 ก.พ.) โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 54.2 ดอลลาร์ หรือ 2.81% ปิดที่ 1,876.6 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. โดยเป็นการร่วงลงวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2564 และร่วงลง 2.7% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 1.21 ดอลลาร์ หรือ 5.12% ปิดที่ 22.405 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 52.3 ดอลลาร์ หรือ 5.06% ปิดที่ 980.3 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 24.20 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 1,618.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (3 ก.พ.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 1.13% แตะที่ระดับ 102.9340

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 131.06 เยน จากระดับ 128.65 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9258 ฟรังก์ จากระดับ 0.9137 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3398 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3329 ดอลลาร์แคนาดา

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดนที่ระดับ 10.5476 โครนา จากระดับ 10.3746 โครนา

ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.0803 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0908 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2054 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2231 ดอลลาร์

Back to top button