ธปท.ย้ำ “แบงก์ไทย” แกร่ง อย่าตื่นตระหนกเอฟเฟกต์ SVB ล้ม

ธปท. เรียกความเชื่อมั่น ย้ำธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB รวมถึงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในไทยในกลุ่มฟินเทค และสตาร์ทอัพทั่วโลกมีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประกาศปิดตัวลงของ 3 ธนาคารรายใหญ่ในสหรัฐเวลาไม่ถึงสัปดาห์นั้น โดยไล่เรียงมาตั้งแต่ Silvergate ผู้ให้บริการด้านคริปโทเคอเรนซี่ ตามมาด้วย Silicon Valley Bank ธนาคารใหญ่อันดับ 16 ที่เน้นปล่อยกู้ให้กลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ จนมาถึงรายที่ 3 อย่าง ซิกเนเจอร์ แบงก์ หนึ่งในธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยเงินกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงผลพ่วงแบบงูกินห่าง จากความพยายามของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มข้นจาก 0.25% ไปที่ 4.75% ในเวลาไม่ถึงปี ซึ่งส่งผลให้ตันทุนทางการเงินของบริษัทที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารสหรัฐเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามนี่คงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะอาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่เป็นเสมือนการส่งสัญญาณร้าย ว่าระบบการเงินของโลก กำลังจะก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางการเงินรอบใหม่ เหมือนยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2551 หรืออาจเลวร้ายกว่านั้น เพราะทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลงเรื่อย ๆ และยังต้องยอมรับว่า ปรากฎการณ์ครั้งนี้ สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินไปทั่วโลก เพราะกังวลว่าอาจไม่ใช่ 3 แบงก์สุดท้ายที่ต้องปิดตัวจากวิกฤตครั้งนี้

นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงินของบ้านเราด้วยหรือไม่ เบื้องต้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาให้ความเชื่อมั่นว่ามีผลกระทบค่อนข้างจำกัด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และรวมถึงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในไทย ในกลุ่มฟินเทค และสตาร์ทอัพทั่วโลก มีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์  ที่สำคัญ ยังพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทย ไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล และหากมีกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ที่ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ก็อยู่ในระดับต่ำประมาณ 200 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ที่สำคัญหากดูข้อมูลตัวเลขทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทย เปรียบเทียบกับธนาคารสหรัฐ จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะพบว่า สถานะของธนาคารไทยมีความมั่นคงที่มากกว่าในหลายมิติ ทั้งในด้านสภาพคล่อง และความเข็มแข็งของเงินกองทุน โดยสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือ Liquidity Coverage ratio : LCR  ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เดือน ม.ค.2566 อยู่ที่ 189.49% สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ CAR ของไทย ก็สูงกว่าสหรัฐ

ขณะที่เงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ในระดับที่เข้มแข็งเช่นกัน โดยสัดส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อยู่ที่ 18.98% ขณะที่เงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.93%และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 15.39% ซึ่งสูงกว่าสหรัฐ ที่มีสัดส่วน เงินกองทุนทั้งสิ้น 15.16% สัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13.69% และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 12.37%

รวมถึงหากดูในแง่ของโครงสร้างสินทรัพย์และเงินฝาก พบว่าระบบแบงก์ไทยจะกระจุกตัวน้อยกว่าแบงก์สหรัฐฯ ที่ประสบปัญหา อย่างกรณีของ SVB นั้น มีโครงสร้างฝั่งสินทรัพย์ในลักษณะที่มีสัดส่วนสินเชื่อ น้อยกว่าพอร์ตเงินลงทุน โดย SVB มีพอร์ตสินเชื่ออสุทธิ 35% ของสินทรัพย์รวม ขณะที่พอร์ตเงินลงทุนในตราสารหนี้ มีสูงถึง 55% ส่วนเงินฝากก็ค่อนข้างกระจุกตัว เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มบริษัทเทคฯ กลุ่ม Venture Capital และกลุ่ม Startups

โดยจะเห็นว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะตรงข้ามกันกับระบบแบงก์สหรัฐ เพราะบ้านเรามีพอร์ตสินเชื่อสุทธิสัดส่วน 64% ของสินทรัพย์รวม และเป็นพอรต์ ที่มีการกระจายตัว ระหว่างสินเชื่อรายใหญ่ ในอัตรา 35.8% เอสเอ็มอี 23.5% และรายย่อย 40.7% ของสินเชื่อทั้งระบบ ที่ไม่รวมธุรกิจการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการกระจายตัวที่ดีกว่า SVB ส่วนพอร์ตเงินลงทุนสุทธิ รวมทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน ที่มีสัดส่วนประมาณ 11.7% ของสินทรัพย์รวม จะเห็นได้ว่าจากโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของแบงก์ไทย ที่กระจายตัวและสมดุลกว่าทำให้สามารถสร้างกระแสรายรับที่มีความต่อเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อ และบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง

 

Back to top button