“ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม” ก.พ. สูงสุดรอบ 4 ปี อานิสงส์ดีมานด์ฟื้น

“ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม” เดือนก.พ. พุ่ง 96.2 สูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี อานิสงส์ดีมานด์ในประเทศ การบริโภค และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.66 อยู่ที่ระดับ 96.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือนม.ค.66 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 47 เดือน นับตั้งแต่เม.ย.62 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิต ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การบริโภค และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน และอานิสงส์การเปิดประเทศของจีน ขณะเดียวกัน การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ตลอดจนการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ต้นทุนประกอบการประเภทราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน

ส่วนปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้ มาจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่หดตัวลง เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อสูงในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ ยุโรป รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นความเสี่ยงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของภาคเอกชน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 101.1 ในเดือนม.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีแรงผลักดันจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และการลงทุน รวมถึงการจัดเลือกตั้งในเดือนพ.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีน จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

1.ขอให้ภาครัฐเร่งการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงาน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

2.เสนอให้ภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง

Back to top button