สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 มี.ค.2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 มี.ค.2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นมากกว่า 1% ในวันศุกร์ (31 มี.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดปรับตัวขึ้นมากที่สุดในไตรมาสแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565 เนื่องจากสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อได้เพิ่มความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกในไม่ช้านี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,274.15 จุด เพิ่มขึ้น 415.12 จุด หรือ +1.26%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,109.31 จุด เพิ่มขึ้น 58.48 จุด หรือ +1.44% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,221.91 จุด เพิ่มขึ้น 208.44 จุด หรือ +1.74%        

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันศุกร์ (31 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในภาคธนาคาร นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงในยุโรปและสหรัฐได้ช่วยหนุนตลาดด้วย

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 457.84 จุด เพิ่มขึ้น 3.00 จุด หรือ +0.66%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,322.39 จุด เพิ่มขึ้น 59.02 จุด หรือ +0.81%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,628.84 จุด เพิ่มขึ้น 106.44 จุด หรือ +0.69% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,631.74 จุด เพิ่มขึ้น 11.31 จุด หรือ +0.15%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันศุกร์ (31 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่ชะลอตัวลงได้เพิ่มความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,631.74 จุด เพิ่มขึ้น 11.31 จุด หรือ +0.15% และปรับตัวขึ้น 2.5% ในไตรมาสแรก แต่ดัชนีลดลงเกือบ 3% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการลดลงในเดือนมี.ค.มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (31 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มอุปทานน้ำมันที่ตึงตัว เนื่องจากอิรักระงับการส่งออกน้ำมันบางส่วนจากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.3 ดอลลาร์ หรือ 1.75% ปิดที่ 75.67 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 50 เซนต์ หรือ 0.63% ปิดที่ 79.77 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (31 มี.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 11.50 ดอลลาร์ หรือ 0.58% ปิดที่ 1,986.20 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่สัญญาทองปิดตลาดเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 8.1% และปรับตัวขึ้น 8.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 16.70 เซนต์ หรือ 0.70% ปิดที่ 24.156 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 6.20 ดอลลาร์ หรือ 0.62% ปิดที่ 1,003.10 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 4.40 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 1,468 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (31 มี.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ชะลอตัวแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.35% แตะที่ระดับ 102.5107

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักต่าง ๆ ในวันศุกร์สู่ระดับ 132.71 เยน จากระดับ 132.44 เยนในวันพฤหัสบดี, ดอลลาร์แตะ 0.9143 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9138 ฟรังก์สวิส, ดอลลาร์อยู่ที่ 1.3530 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3519 ดอลลาร์แคนาดา และดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าขึ้นแตะ 10.3730 โครนาสวีเดน จากระดับ 10.3649 โครนาสวีเดนในวันพฤหัสบดี

ยูโรอ่อนค่าลงในวันศุกร์สู่ระดับ 1.0853 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0904 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี และปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2336 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2388 ดอลลาร์

Back to top button